หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

หยวนเซียว 元宵

รูปภาพของ salyae

เทศกาล"หยวนเซียว"หรือเทศกาลโคมไฟของจีน

นำมาจาก China Radio International thai.cri.cn

สวัสดีครับท่านผู้ฟังที่เคารพ ทุกวันอังคารพบกับผมยงเกียรติ ลู่ในรายการ "วัฒนธรรมจีน" นะครับ ท่านผู้ฟังครับ
วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีนเป็นวัน "เทศกาลหยวนเซียว" ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญที่มีมาแต่ดั้งเดิมของจีน และถือเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีน รายการวัฒนธรรมจีนวันนี้ ผมขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับความเป็นมาและขนบธรรมเนียมประเพณี ของเทศกาลหยวนเซียวครับ

วันเทศกาลหยวนเซียว เป็นวันเพ็ญวันแรกในปีใหม่ตามจันทรคติ ใแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อถึงคืนวันนั้น ตามท้องที่ต่างๆของจีนต่างก็มีประเพณีแขวนโคมไฟหลากสี ด้วยเหตุนี้ เทศกาลหยวนเซียว จึงเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "เทศกาลโคมไฟ" วันเทศกาลโคมไฟปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ตามคริสต์ศักราช การเที่ยวชมโคมไฟและการรับประทานขนม "หยวนเซียว" นั้นเป็นเอกลักษณ์สำคัญสองประการในวันเทศกาลหยวนเซียว

ท่านผู้ฟังอาจจะถามว่า เหตุใดจึงต้องแขวนโคมไฟกันในเทศกาลหยวนเซียว

เล่ากันว่า เมื่อปี ๑๘๐ ก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกของจีน ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ เพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชบัลลังก์ จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ทรงมีพระราชโองการให้กำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันเทศกาลโคมไฟ เมื่อถึงคืนวันนั้นทุกปี จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ก็จะเสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปชมตามสถานที่ต่างๆ และทรงร่วมสนุกสนานกับชาวบ้าน ในวันนั้น แต่ละครัวเรือน และตามถนนหนทางหรือตรอกซอกซอยต่างๆ ก็จะมีการแขวนโคมไฟที่มีรูปแบบต่างๆ นานาและวิจิตรพิสดารขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้เที่ยวชมเป็นขวัญตา ครั้นถึงเมื่อปี ๑๐๔ ก่อนคริสต์ศักราช เทศกาลหยวนเซียว ได้ถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลสำคัญแห่งชาติอย่างเป็นทางการ ข้อกำหนดนี้ ได้ทำให้เทศกาลหยวนเซียว มีความหมายที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ตามกำหนดการ เมื่อถึงวันนั้น ตามสถานที่สาธารณะและทุกๆ ครอบครัวต่างก็ต้องจะแขวนโคมไฟหลากสีสัน ประดับประดาอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตามถนนหนทางที่เจริญและคึกคัก และศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ นั้นยังมักจะจัดงานแสดงโคมไฟขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วย ผู้คนทั้งหลาย ไม่ว่าชาย หญิง เด็กเล็กหรือคนชรา ก็มักจะไปเที่ยวชมโคมไฟด้วยกัน เล่นทายปริศนาหรือเชิดโคมไฟมังกรกันจนโต้รุ่ง ต่อมาภายหลัง สิ่งเหล่านี้ได้สืบทอดต่อกันมาปีต่อปี จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประชาชาติจีน ตราบเท่าปัจจุบัน

โคมไฟหลากสีในเทศกาลหยวนเซียวนั้น ส่วนใหญ่ทำด้วยกระดาษสีที่สดใส สามารถทำให้มีรูปลักษณ์ต่างๆนานาได้ เช่น ภูเขา แม่น้ำลำธาร อาคารบ้านเรือน มนุษย์ ไม้ดอกและพืชหญ้าต่างๆ วิหคนกน้อยและสัตว์สี่เท้าชนิดต่างๆ เป็นต้น ในช่วงปีหลังๆ นี้ ศิลปะการทำโคมไฟน้ำแข็งได้มีการพัฒนา จนได้รับความนิยมชมชอบกันทั่วไป ทางภาคเหนือของจีน ในขณะเดียวกัน ผู้คนทั้งหลายยังได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ในกรรมวิธีผลิตโคมไฟน้ำแข็งอีกด้วย แสงไฟหลากสีสันกับน้ำแข็งแกะสลักที่โปร่งใสประชันแสงสีกัน เป็นภาพที่งดงามตระการตายิ่งนัก

การรับประทานขนม "หยวนเซียว" ก็เป็นประเพณีเก่าแก่ในวันเทศกาลหยวนเซียว ซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน เวลานั้น เมื่อถึงเทศกาลโคมไฟ ในหมู่ชาวบ้านได้มีกระแสนิยม รับประทานอาหารแปลกใหม่ชนิดหนึ่ง ที่มีกรรมวิธีทำดังนี้ คือ ใช้ขนมโก๋ชนิดต่างๆเป็นใส้ ห่อด้วยแป้งข้าวเหนียวแล้วเอาฝ่ามือปั้นไปมาให้เป็นรูปทรงกลม เมื่อนำไปต้มในน้ำเดือดจนสุก แล้วก็สามารถรับประทานได้ มีรสที่หวาน กลิ่นหอม ชวนชิมยิ่งนัก ต่อมา ตามเขตภาคเหนือของจีนเรียกอาหารชนิดนี้ว่า "หยวนเซียว" ส่วนทางภาคใต้ของจีน เรียกอาหารชนิดเดียวกันนี้ว่า "ทังหยวน" หรือ "ทังถวน" เมื่อพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน หยวนเซียวสามารถแบ่งออกได้เป็นประมาณ ๓๐ ชนิดแล้ว ส่วนใส้ของหยวนเซียวนั้นก็มีหลากหลาย เช่นซานจาซึ่งเป็นผลไม้จีนชนิดหนึ่ง พุทรากวน ถั่วแดงกวน ถั่ว ๕ อย่าง งา โกโก้เนยและช๊อกโกเลต เป็นต้น

ท่านผู้ฟังครับ กิจกรรมในวันเทศกาลหยวนเซียว นอกจากการชมโคมไฟและการรับประทานขนมหยวนเซียวแล้ว ยังตามมาด้วยรายการศิลปะบันเทิงต่างๆ อีกมากมาย เช่น การเดินไม้ต่อขา การเต้นระบำ "ยางเกอ" และการเชิดสิงโต เป็นต้น โดยเฉพาะการเชิดสิงโตขึ้นนั้น นอกจากจีนแล้ว ตามเขตชุมชนชาวจีนทุกแห่งในโลก ต่างก็จะจัดการแสดงเชิดสิงโตในโอกาสฉลองปีใหม่หรือเทศกาลสำคัญอื่นๆ เวลาเชิดสิงโตนั้น มักจะประกอบด้วยการบรรเลงดนตรี ที่มีเอกลักษณ์พื้นเมืองของจีน ไม่ว่าจะเป็นผู้แสดง หรือผู้ชมต่างก็มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ร่วมกันสร้างภาพที่คึกคักเร้าใจในวันเทศกาลโคมไฟ


รูปภาพของ salyae

เทศกาลหยวนเซียว

เทศกาลหยวนเซียว (元宵节)

นำมาจาก ผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2548 15:03 น.

คือวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติ คำว่า 元 หยวน ีความหมายว่า แรก ส่วน 宵 เซียว แปลว่า กลางคืน จึงใช้เรียกคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน
สำหรับคืนนี้ มีประเพณีว่า ชาวจีนจะต้องรับประทานบัวลอยกันในครอบครัวและออกไปชมโคมไฟที่จะนำมาประดับประดากันอย่างสวยงาม ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节)
เทศกาลหยวนเซียว เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ก่อนคริสตกาล 206 ปี- ค.ศ.25) ส่วนประเพณีการชมโคมไฟนั้น เล่ากันว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก จักรพรรดิองค์นี้มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดไฟเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวังจุดไฟเพื่อเคารพต่อพุทธศาสนา และนั่นเองก็เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟ

มาถึงราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) ประเพณีการชมโคมไฟก็ยิ่งมีความพิถีพิถันมากขึ้น ภายในพระราชวัง หรือตามท้องถิ่น ทุกหนทุกแห่งล้วนมีการแขวนโคมไฟ ทั้งยังพัฒนาไปเป็นตึกโคมไฟ ต้นไม้โคมไฟ วงล้อโคมไฟ ที่มีการบันทึกว่ามีความสูงถึง 20 จั้ง (ราว 66 เมตร) และมีการประดับประดาด้วยโคมไฟถึง 50,000 ดวง ในยุคนี้ ประเพณีการชมโคมไฟมีต่อเนื่องกันถึง 3 วัน

เรื่อยมาจนในราชวงศ์ซ่ง(ค.ศ.960-1279 ) ที่ยิ่งให้ความสำคัญกับประเพณีนี้ และกิจกรรมดังกล่าวก็ยิ่งคึกคัก และมีติดต่อกัน 5 วัน รวมถึงรูปแบบของโคมไฟก็ยิ่งหลากหลาย ส่วนในราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) ประเพณีการชมโคมไฟยาวนานถึง 10 วัน และเป็นการชมโคมที่ยาวที่สุดของจีน ในขณะที่เมื่อมาถึงราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616-1911) ประเพณีดังกล่าวก็ได้หดลงเหลือเพียง 3 วัน แต่ความยิ่งใหญ่ตระการตากลับไม่ได้ลดลงเลย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่ถึงค่ำคืนเทศกาลหยวนเซียว ผู้คนก็จะหลั่งไหลไปตามท้องถนนเพื่อชมโคมไฟที่มีรูปทรงต่างๆ ทายปัญหาเชาวน์ที่ซ่อนอยู่ในโคมไฟ เล่นดอกไม้ไฟ จุดประทัด แห่สิงโต ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมบันเทิงใจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากโคมไฟกระดาษแล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงมีอากาศหนาวเย็น ก็ยังมีโคมไฟน้ำแข็งด้วย และกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

นอกจากการชมโคมไฟแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือการรับประทานบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด ในยุคแรก ชาวจีนเรียกขนมชนิดนี้ว่า 浮圆子 ฝูหยวนจื่อ (,浮 - ลอย 圆子 - ลูกกลมๆ) ต่อมาก็เรียกว่า 汤团ทังถวน(汤-น้ำแกง团-ลูกกลมๆ ) หรือ 汤圆 ทังหยวน โดยมีความหมายเหมือนกัน ทั้งออกเสียงใกล้เคียงกัน และ 团圆 เมื่อรวมกันแล้ว ก็ได้ความหมายถึงการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของแต่ละเทศกาลบนแดนมังกร

ทั้งนี้ เนื่องด้วยการรับประทานบัวลอยในคืนหยวนเซียว ปัจจุบันจึงมีการเรียกบัวลอยว่า หยวนเซียวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คำว่าหยวนเซียวจึงพัฒนาจนมี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อเทศกาล สอง
หมายถึงบัวลอยนั่นเอง.

เรียบเรียงจาก หนังสือ 'จงกั๋วเหวินฮั่ว' มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง(语言文化大学)

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal