หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

เทศกาลเช็งเม้ง 清明节 ประเพณีเดือน 3

รูปภาพของ มงคล

รวมบทความเกี่ยวกับเทศกาลเช็งเม้ง 


จาก China Radio International thai.cri.cn

 วันเช็งเม๊งเป็น 1 ของ 24 ฤดูกาลตามจันทรคติของจีน ส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาต้นเดือนเมษายนตามปฏิทินสมัยปัจจุบัน พอถึงวันนี้ ผู้คนจะเดินทางไปชานเมือง เพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษ เดินเที่ยวชมวิว และเก็บกิ่งหลิวกลับมาเสียบประตูบ้าน

ในท้องถิ่นบางแห่งของจีนเรียกวันเช็งเม็งว่าเป็นเทศกาลผี จะเห็นได้ว่านี่เป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เวลาก่อนและหลังวันเช็งเม็ง ทุกครอบครัวจะไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ ตัดหญ้ารกที่ขึ้นตามสุสาน เติมดินใหม่บนหลุม แล้วจุดธูปเทียน เผากระดาษเงินกระดาษทองกราบไหว้แสดงความไว้อาลัย มีกลอนโบราณยุคซ้องได้บรรยายถึงสภาพของประเพณีไหว้ที่ฝังศพว่า สุสานบนเขาเหนือใต้ ผู้คนกราบไหว้วันเช็งเม็ง กระดาษเงินทองปลิวว่อนคั่งผีเสื้อ เลือดและน้ำตาหลั่งชะโลมดอกตู้เจียนให้แดงสะพรั่ง

เล่ากันว่าวันเชงเม๊งเริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ก่อนค.ศ.206 – ค.ศ 220) จนถึงสมัยราชวงศ์หมิงและสมัยราชวงศ์ชิง พิธีไหว้ที่ฝังศพบรรพบุรุษพัฒนาถึงขั้นสูงสุด บางคนไม่เพียงแต่เผากระดาษเงินกระดาษทองที่หน้าสุสานแล้ว แต่ยังทำกับข้าว 10 อย่างไปวางไว้หน้าสุสานด้วย

การไหว้สุสานบรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม็งเป็นประเพณีสำคัญของจีน และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าพิธีไหว้จะเรียบง่ายกว่าสมัยก่อน มีรูปแบบทั้งการไหว้ของแต่ละครอบครัว และการไหว้ที่จัดโดยองค์กรและหมู่คณะต่าง ๆ  โดยผู้คนจะพากันไปไหว้สุสานของวีรบุรุษที่สละชีพเพื่อชาติ โดยวางดอกไม้สดหรือต้นสนต้นเล็กเพื่อแสดงความไว้อาลัย

วันเช็งเม็งอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของจีน แม้ว่างานนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไหว้บรรพบุรุษเป็นหลักก็ตาม แต่ในระหว่างประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้น ผู้คนยังถือโอกาสนี้เป็นการออกนอกบ้านท่องเที่ยวตามชานเมือง ชมต้นไม้สีเขียวที่ไม่ได้เห็นในฤดูหนาวเป็นเวลาหลายเดือน ท้องถิ่นบางแห่งของจีนจึงเรียกเทศกาลเช็งเม็งว่าเป็นเทศกาลวันเหยียบสีเขียว

ในสมัยโบราณยังมีประเพณีที่เดินเที่ยวชมสีเขียวตามชานเมืองและเด็ดดอกไม้ของผักสดชนิดหนึ่งชื่อว่า ฉีไช่ แต่ประเพณีนี้ยากที่จะเห็นได้ในสมัยปัจจุบัน คือก่อนและหลังวันเช็งเม็ง ผู้หญิงหรือสาว ๆ มักจะออกจากบ้านไปเที่ยวตามชานเมืองและเด็ดผักป่าสด ๆ กลับมาบ้าน ทำเป็นใส้เกี๊ยวน้ำ รสชาติอร่อยมาก ผู้หญิงบางคนยังเอาดอกสีขาวของผักฉีทำเป็นปิ่นผม

ช่วงเทศกาลเช้งเม็ง ชาวจีนยังนิยมการเล่นว่าว เล่นชักเย่อและเล่นชิงช้าเป็นต้น

ทำไมวันเช้งเม็งใช้คำว่าเช็งเม็ง ตามภาษาจีนกลาง เช็งเม็งหมายความว่าสดชื่น สว่างและแจ่มใส ก็เพราะว่าช่วงนี้เป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศสดชื่น หญ้ากำลังขึ้นเขียว ป่าไม้เริ่มผลิดอกออกใบ  เป็นช่วงเวลาเริ่มทำไร่ไถนา ในสำนวนการเกษตรของจีนมีการบรรยายถึงเทศกาลเช็งเม็งกับการเกษตร เช่น ชิงหมิงเฉียนโฮ่ว จ้งกวาจ้งโต้ว ความหมายคือก่อนและหลังช่วงเวลาเช็งเม็ง เป็นเวลาเหมาะสมที่จะปลูกแตงปลูกถั่ว และยังมีสำนวนกล่าวว่า การปลูกต้นไม้ต้นใหม่ต้องไม่เกินเทศกาลเช็งเม็ง ช่วงเวลาก่อนเช็งเม็งพืชอะไรก็ปลูกขึ้นได้ดีหมด
ในเทศกาลเช็งเม็งยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ มีกลอนโบราณจีนที่บรรยายทิวทัศน์ว่า ต้นหลิวทั่วเมืองออกใบสีเขียวอ่อนเหมือนหมอกสีเขียวเต็มท้องฟ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของช่วงเทศกาลเช็งเม็ง

เทศกาลเช็งเม้ง (ชิงหมิงเจี๋ย) ของชาวจีน เป็นวันที่ชาวจีนจะทำความสะอาดสุสานของบรรพชน วันเทศกาลเช็มเม้งเป็นนวันลำดับที่ 106 นับจากวันที่พระอาทิตย์ โคจรห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดซึ่งเป็นการคำนวนทางจันทรคติของจีน ฤดูใบไม้ผลิเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นาน สุสานของบรรพบุรุษ มักจะมีหญ้าขึ้นชุก ผิวดินร่วนซุย ดังนั้น สมาชิกน้อยใหญ่ใน ครอบครัวจึงพากันนำเทียนหอมและเครื่องเซ่นไหว้ไปกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษที่สุสานและทำความสะอาดบริเวณสุสาน โดยชาวจีนจะตื่นนอนแต่เช้าเดินทางไปสุสาน พวกเขาจะจัดวาง สำรับสุราอาหารไว้บริเวณด้านหน้าสุสาน แล้วจัดแจงเผากระดาษเงินกระดาษทอง จุดธูปขึ้นและให้ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นคนพูดคุยกับบรรพชนในสุสาน นับเป็นการแสดงความคิดถึงวิธีหนึ่งของคนที่ไปเซ่นไหว้ อาหารที่เตรียมไปเซ่นไหว้มีทั้งขนม ผลไม้ เหล้าขาวและ อาหารคาวหวาน หากผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นคนสูบบุหรี่เมื่อยังมี ชีวิตอยู่ ลูกหลานที่ติดบุหรีจะจุดบุหรี่ขึ้นมวนหนึ่งพร้อมกับ จุดธูปทำพิธีเซ่นไหว้ ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ดอกไม้ หรือพวงมาลัยมาแสดงความเคารพและการตรำลึกถึง

หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว ผู้ที่ไปเซ่นไหวก็จะถอนต้นหญ้าที่งอกอยู่บนสุสานทิ้ง พร้อมกับปรับเนินดินของสุสานให้สวยงามเพื่อบำรุงรักษาสุสานของบรรพบุรุษให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณงดงามเช่นเดิม

ท่านผู้ฟังคะ ท่านทราบไหมคะว่า ชาวจีนมีความรักใคร่ผูกพัน กับถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างหนักแน่นและมั่นคงมาก เพราะชาวจีนเห็นว่า ถึงแม้โลกนี้จะกว้างใหญ่ไพศาล แต่จะมีเพียงผืนแผ่นดินที่เราเคยหว่านไถเพาะปลูกมากับมือตนเองเท่นนั้นที่น่าอยู่ที่สุด ผืนแผ่นดินนี้เป็นของเรา เฉกเช่นที่พวกเราก็เป็นของแผ่นดินนี้เช่นกัน ในสมัยโบราณ เวลาชาวจีนจะเดินทางไกลจากบ้านเกิด จะพกก้อนดินที่บ้านเกิดติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะคิดว่า จะช่วยให้คนที่เดินทางมีความปลอดภัยและเหินห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ

ใครก็ตามที่ไปเสียชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมือง คนในครอบครัวของเขาก็จะใช้ความพยายามทุกวิถีทางทำศพของเขากลับมาฝังยังแผ่นดินเกิดให้จงได้

ชาวจีนบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็มเม้ง ไม่เพียงแต่เป็นการรำลึกถึงบุคคลผู้ใกล้ชิดที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น หากยังช่วยให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่มีที่พึ่งพิงทางจิตใจให้กับตัวเองด้วย เพราะในความคิดของชาวจีน ไม่ใช่ญาติมิตร ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกเขา ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วก็เป็นพลังสำคัญที่ให้กำลังใจแก่คนที่มีชีวิตอยู่ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และจะเป็นกำลังใจให้พวกเขา ในยามเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบาก การที่ชาวจีนดั้นด้นเดินทางกลับสู่บ้านเกิดภูมิลำเนาเดิมเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็เพื่อแสวงหา ความสงบสุขภายในตนเองด้วย การทำความสะอาดสุสาน นอกจากทำให้ทุกคนรู้สึกสบายอกสบายใจแล้ว ชาวจีนยังถือโอกาสวันหยุดหนึ่งวัน ในเทศกาลเช็งเม้งนี้ออกไปท่องเที่ยว ไปสัมผัสธรรมชาติในขณะที่ต้นไม้ชนิดต่างๆเริ่มผลิดอกออกใบ ดอกไม้นานาพันธุ์บานสะพรั่งในยามนี้ ชาวจีนขึ้นชื่อในเรื่องความขยันขันแข็งและประหยัดอดออม ปกติก็หาเวลาออกไปท่องเที่ยวนอกบ้านไม่ค่อยได้ ทุกคนจึงมักจะถือโอกาสช่วงที่ทำความสะอาดสุสานออกไปกินลมชมทิวทัศน์ของฤดูใบไม้ผลิ ฤดูที่อากาศกำลังค่อยๆอบอุ่นขึ้น พืชพันธุ์ต่างๆบนแผ่นดินกำลังถูกปลูกให้ตื่นขึ้น คนจีนจึงเรียกกิจกรรมในเทศกาลเช็งเม้งว่า"เดินเล่นในฤดูใบไม้ผลิ" รัฐบาลจีนกำหนดให้วันเช็งเม้งเป็นวัน"เทศกาลทำ ความสะอาดสุสานของประชาชาติ" จัดให้มีการทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้ประชาชนแสดงความรำลึกถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไป พร้อมกับให้ประชาชนจีนทั้งประเทศ ได้หยุดงาน 1 วัน เพื่อให้ครอบครัวสามารถจัดกิจกรรมออกไป ท่องเที่ยวตามชานเมือง เป็นการสืบสานขนบประเพณีที่ดีงาม อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมจีนต่อไป

ท่านผู้ฟังคะ รายการ"เล่าเรื่องเมืองจีน" วันนี้ ดิฉันได้แนะนำวันเทศกาลเช็งเม้งเพียงเท่านี้ หากท่านสนใจ เกร็ดความรู้เรื่องใดเกี่ยวกับเมืองจีน กรุณาเขียนจดหมายไป คุยกับรายการของเราได้นะคะ ท่านผู้ฟังคะ รายการ"เล่าเรื่องเมืองจีน"วันนี้ ขอจบลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ


เทศกาลเช็งเม้ง 清明节

จาก Blog china_chiness คุณ *-*jeab*-* tlcthai.com

เทศกาลเช็งเม้ง 清明节 (qing ming) เป็นเทศกาลโบราณที่มีประวัติความเป็นมา นานกว่า 2000 ปี และถือเป็นเทศกาลสำคัญ 1 ใน 8 เทศกาล 八节 คือ ซั่งหยวน 上元 ชิงหมิงหรือเช็งเม้ง 清明 ลิเซี่ย 立夏, ตวนอู่ 端午, จงหยวน 中元, จงชิว 中秋, ตงจื้อ 冬至, และ ฉูซี 除夕

วันเช็งเม้งจะตรงกับปฏิทินทางสุริยคติในวันที่ 5 เมษายน แต่ระยะเวลาสำหรับเทศกาลกำหนดค่อนข้างยาว มีการกำหนดสองแบบ คือ ก่อน 10 วันหลัง 8 วันกับ ก่อน 10 วันหลัง 10 วัน

ถ้าจะพูดถึงเทศกาลเช็งเม้ง ก็ต้องย้อนกลับไปเทศกาลหนึ่งในยุคโบราณซึ่งปัจจุบัน ได้เลิกปฏิบัติไปแล้ว คือเทศกาลหานสือ 寒食节 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของที่มาเช็งเม้ง

เทศกาลหานสือ(การรับประทานในฤดูหนาว) ยังเรียกว่า เทศกาลโสวสือ 熟食节 (การรับประเทศอาหารสุก) หรือเทศกาลจิ้นเยียน (การห้ามก่อควันไฟ) หรือเทศกาล เหริ่ง (เทศกาลหนาว) ช่วงเวลาของเทศกาลจะห่างจะฤดูหนาว 105 วัน หรือห่างจากเทศกาลเช็งเม้ง 1-2 วัน ในช่วงเทศกาลดังกล่าว จะห้ามก่อไฟ จึงต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเตรียมไว้ก่อนแล้ว หรืออาหารที่เย็นชืด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเรียกเทศกาล

เทศกาลหานสือ กล่าวกันว่ามีความเป็นมาตั้งแต่สมัยชุนชิว 春秋 ในแคว้นจิ้น晋国 เพื่อรำลึกถึงองค์ชายแคว้นจิ้นคือ เจี้ยจื่อ介子 และจ้งเอ่อ重耳 จ้งเอ่อได้ไปอยู่ในต่างแดนเสีย 19 ปี ในขณะที่เจี้ยจือได้สร้างผลงานให้กับประเทศชาติ แล้วเชิญจ้งเอ่อ กลับมาเพื่อขึ้นครองบัลลังก์เป็นจิ้นเหวินกง晋文公 แล้วตนเองก็เข้าป่าไปปลีกวิเวกพร้อมด้วยคุณแม่ จิ้นเหวินกงทราบเข้า ก็ให้คนไปตามหา แต่หาเท่าไรก็ไม่พบ จึงใช้วิธีจุดไฟเผาป่าเพื่อบีบบังคับให้เจี้ยจื่อออกมา แต่ปรากฏว่าเจี้ยจื่อกับคุณแม่ได้กอดต้นไม้ใหญ่ไว้ยอมให้ไฟไหม้ตายโดยไม่ยอมออกจากป่า จิ้นเหวินกงเสียใจมาก จึงได้ออกคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อภูเขาเหมี่ยนเป็นภูเขาเจี้ยเพื่อรำลึกถึงเจี้ยเจื่อ (ปัจจุบัน คือภูเขาเจี้ยในอำเภอเจี้ยซิว 介休 ในมณฑลซานซี 山西 และยังออกคำสั่งให้วันที่เจี้ยจื่อถึงไฟไหม้ตายเป็นวันหานสือ และให้ถือปฏิบัติทุก ๆ ปี โดยไม่ให้ก่อไฟ กินข้าวเย็นแทน

หากแต่ว่าที่มาที่แท้จริงของเทศกาลหานสือ มาจากสมัยโบราณที่การก่อไป เนื่องจากฤดูต่างกัน ไม้ที่นำมาก่อไฟก็ต้องใช้ต่างกัน จึงมีประเพณีปฏิบัติเวลาเปลี่ยนฤดู ก็มีการเปลี่ยนกองเพลิงกันใหม่ ฉะนั้นถ้าถึงฤดูใหม่ แต่ไฟใหม่ยังไม่มา ก็จะห้ามใช้ไฟโดยเด็ดขาด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในยุคนั้น ประชาชนจึงต้องตระเตรียมอาหารไว้ในช่วงที่ขาดไฟ หลังจากนั้นประเพณีปฏิบัตินี้จึงมีการนำเอาตำนานที่เล่าลือกันของ เจี้ยจื่อมาปะติดปะต่อกัน กลายเป็นเทศกาลหานสือ แต่เนื่องจากระยะเวลาเทศกาลหานสือนาน นับเดือน การรับประทานอาหารที่เย็นชืดไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ภายหลัง จึงมีการหดระยะเวลานั้นลงเหลือ 10 วัน 7 วัน 3 วัน จนเหลือ 1 วัน จนถึงสมัยราชวงศ์ถัง 唐 จึงกำหนดตรงกับวันเช็งเม้ง

 



จาก China Radio International thai.cri.cn

 

 

"เทศกาลเช็งเม้งฝนโปรยปราย ผู้ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษขวัญจะหาย ขอถามร้านสุราอยู่หนใด เด็กเลี้ยงวัวชี้ไปซิ่งฮวาชุนแลไม่ไกล"

ท่านผู้ฟังคะ บทกวีเรื่อง "เช็งเม้ง" โดยตู้มู่ กวีสมัยราชวงศ์ถังของจีนนี้เป็นบทกวีที่รู้จักกันทุกครัวเรือน พรรณนาให้เห็นถึงความเศร้าสลดของผู้คนในเทศกาลเช็งเม้งที่หวนรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว และประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ตลอดจนสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ วันที่ 5 เมษายนที่จะถึงในพรุ่งนี้ก็ตรงกับวันเช็งเม้ง รายการวันนี้ ขอเสนอเรื่องความเป็นมาและประเพณีบางอย่าง ของเทศกาลเช็งเม้งให้ท่านผู้ฟังรู้จักค่ะ

เทศกาลเช็งเม้งในสมัยโบราณเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาลเดือนสาม มีประวัติมากว่า 2,000 ปีแล้ว ชาวจีนมีสำนึกในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวงศ์ตระกูลเป็นอย่างสูง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน และราชวงศ์ฮั่น เป็นต้นมา การทำความสะอาดหลุมฝังศพ และการเซ่นไหว้หน้าหลุมฝังศพ ก็พัฒนามาเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับผู้คนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นสูงหรือชนชั้นล่าง

 

 

เมื่อกล่าวถึงเทศกาลเช็งเม้ง ก็จะพาให้นึกถึงเจี้ยจื่อทุย บุคคลทางประวัติศาสตร์ เรื่องมีว่า ในสมัยชุนชิวเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน เจี้ยจื่อทุยติดตามจ้งเอ่อพระโอรสก๊กจิ้นลี้ภัยไปต่างแดน ระหว่างทาง พวกเขาพากันหลงทาง จ้งเอ่อหิวโหยจนเวียนหัวตาพร่า นึกขึ้นมาว่าถึงตนจะอดตายเสียก็ไม่เป็นไร เป็นห่วงแต่ว่าชาวก๊กจิ้นจะตกทุกข์ได้ยากในยามข้างหน้า เจี้ยจื่อทุยซาบซึ้งในความรักประชาชนของจ้งเอ่อ จึงกรีดเนื้อขาของตนออกมา แล้วย่างจนสุกให้จ้งเอ่อรับประทาน หลังจากนั้น 19 ปี จ้งเอ่อกลับก๊กจิ้นขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าจิ้นเหวินกง พระราชทานสิ่งตอบแทนแก่ผู้ที่เคยติดตามพระองค์ในยามลี้ภัย มีแต่เจี้ยจื่อทุยคนเดียว ที่ไม่รับของพระราชทาน เขาพามารดาไปใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาเหมียนซาน โดยไม่ยอมลงมา

พระเจ้าจิ้นเหวินกงรับสั่งให้ทำตามข้อเสนอของขุนนาง คือ จุดไฟเผาภูเขาลูกดังกล่าวจากสามด้าน สงวนทางไว้อีกด้าน เพื่อให้เจี้ยจื่อทุยลงมาจากภูเขา พระองค์ทรงดำริว่า เจี้ยจื่อทุยเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดา คงจะพามารดาออกมาพร้อมกันแน่ แต่ เมื่อดับไฟที่ภูเขาแล้ว กลับพบว่า เจี้อจื่อทุยพร้อมกับมารดาถูกไฟคลอกเสียชีวิตไปเสียแล้ว เพื่อรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย พระเจ้าจิ้นเหวินกงจึงรับสั่งให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันห้ามใช้ไฟ ให้รับประทานแต่อาหารเย็นที่ไม่ได้ใช้ไหหุงหา นี่ก็คือความเป็นมาของวันรับประทานอาหารเย็น

เนื่องจากวันรับประทานอาหารเย็นไล่เลี่ยกับวันเช็งเม้ง ฉะนั้น นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ผู้คนก็เริ่มรวมวันรับประทานอาหารเย็นเข้ากับวันเช็งเม้งเป็นวันเดียวกัน

ตามประเพณีดั้งเดิม กิจกรรมหลักในวันเช็งเม้งก็คือการทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ และตัดกวาดหญ้ารอบๆ หลุมฝังศพให้เรียบร้อย แล้วเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหารและดอกไม้สด เป็นต้น ปัจจุบันในเมืองมักจะใช้วิธีปลงศพด้วยการเผา ฉะนั้น ในวันเช็งเม้ง ผู้คนก็จะไปเซ่นไหว้ที่ที่เก็บเถ้าถ่านของบรรพบุรุษ มีบ้างที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน ทั้งนี้นับเป็นการแสดงถึง ความไว้อาลัยผู้ล่วงลับไปแล้ว การสมานฉันท์ในวงศ์ตระกูล และความกตัญญูกตเวทีของชาวจีน

นอกจากนี้ เช็งเม็งยังเป็น 1 ใน 24 ช่วงการเปลี่ยนแปลงดินฟ้าอากาศของจีนด้วย คือ เช็งเม้งอยู่ช่วงระหว่างวสันต์ตอนกลาง กับวสันต์ตอนปลาย เป็นวาระเริ่มกิจกรรมทางการเกษตร คำพังเพยจีนมีว่า "เช็งเม้งมาถึง ชาวนาวิ่งเต้น

ช่วงหลังและก่อนเช็งเม้ง ปลูกแตงหว่านเมล็ดถั่ว" ช่วงเช็งเม้งนี้อากาศอุ่นขึ้นบุปผากำลังบาน ฟ้าใสดินกระจ่าง เป็นช่วงเหมาะสำหรับ "การไปย่ำ (หญ้า) เขียว" (คือ ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางชานเมือง) จริงๆ บ้างจะไปเล่นว่าว บ้างจะไปเที่ยวสวนสาธารณะ และบ้างจะไปโล้ชิงช้า เพิ่มสีสันและเติมพลังให้แก่ชีวิตไม่น้อยทีเดียว

ท่านผู้ฟังคะ เรื่องราวความเป็นมาและประเพณีบางอย่างของเทศกาลเช็งเม้งของจีนขอเสนอเพียงเท่านี้ ซูจิ่นจัดเสนอค่ะ ต่อไปขอเชิญท่านฟัง "ข่าววัฒนธรรม" ดำเนินรายการโดยคุณโจวสวี้ค่ะ


 



เทศกาลเช็งเม้ง (清明节 ชิงหมิงเจี๋ย)

ชาวจีนจะทำความสะอาดสุสานของบรรพชน และทำพิธีไว้อาลัยและรำลึกถึงญาติพี่น้องที่เสียชีวิต ชาวจีนเชื่อว่า การทำความเคารพบรรพชนถือว่าเป็นการทำบุญให้กับตนเองและลูกหลาน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ฉะนั้น เทศกาลเช็งเม้งจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวจีน

วันเทศกาลเช็งเม้งเป็นวันลำดับที่ 106 นับจากวันที่ดวงอาทิตย์ โคจรห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ซึ่งเป็นการคำนวนทางจันทรคติของจีน ฤดูใบไม้ผลิเพิ่งจะเริ่มต้นได้ไม่นานนัก สุสานของบรรพบุรุษ มักจะมีหญ้าขึ้นรก ผิวดินร่วนซุย ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจึงพากันนำเทียนหอม และเครื่องเซ่นไหว้ไปกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษและทำความสะอาดบริเวณสุสาน โดยชาวจีนจะตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเดินทางไปสุสาน พวกเขาจะจัดวาง สำรับสุราอาหารไว้บริเวณด้านหน้าสุสาน แล้วเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และจุดธูปจากนั้นให้ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นคนสื่อสารกับบรรพชน ในสุสาน ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความรำลึกถึงวิธีหนึ่ง สำหรับอาหารที่เตรียมไปเซ่นไหว้ก็มีทั้งขนม ผลไม้ เหล้าขาวและ อาหารคาวหวาน หากผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นคนสูบบุหรี่เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ลูกหลานที่ติดบุหรี จะจุดบุหรี่ให้มวนหนึ่งพร้อมกับ จุดธูปทำพิธีเซ่นไหว้ ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่นิยมใช้ดอกไม้ หรือพวงลัยมาแสดงความเคารพและรำลึกถึงบรรพบุรุษ

หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว ผู้ที่ไปเซ่นไหวก็จะถอนต้นหญ้าและทำความสะอาด พร้อมปรับเนินดินของสุสานเพื่อบำรุงรักษาสุสาน ของบรรพบุรุษให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณงดงามเช่นเดิม

ท่านผู้ฟังคะ ท่านทราบไหมคะว่า ชาวจีนมีความรักใคร่ผูกพัน ถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างหนักแน่นและมั่นคงมาก เพราะชาวจีนเห็นว่า ถึงแม้โลกนี้จะกว้างใหญ่ไพศาล แต่จะมีเพียงผืนแผ่นดินที่เราเคย หว่านไถเพาะปลูกมากับมือตนเองเท่านั้นที่น่าอยู่ที่สุด ผืนแผ่นดินนี้เป็นของเรา เฉกเช่นที่พวกเราก็เป็นของแผ่นดินนี้เช่นกัน ในสมัยโบราณ เวลาชาวจีนจะเดินทางไกลจากบ้านเกิด จะพกก้อนดินที่บ้านเกิดติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะคิดว่า จะช่วยให้เดินทางความปลอดภัยและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ

ใครก็ตามที่ไปเสียชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างเมือง คนในครอบครัวก็จะพยายามทุกวิถีทางที่จะะนำศพของเขากลับมาฝังยังแผ่นดินเกิดให้ได้

ชาวจีนบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็มเม้ง ไม่เพียงแต่เป็นการรำลึก ถึงบุคคลใกล้ชิดที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น หากยังช่วยให้คนที่มีชีวิตอยู่ มีที่พึ่งทางจิตใจ เพราะในความคิดของชาวจีน ไม่ใช่เพียงญาติมิตร ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วก็เป็นพลังสำคัญที่ให้กำลังใจแก่คนที่มีชีวิตอยู่ เป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นกำลังใจให้พวกเขา ในยามเผชิญกับอุปสรรค และความยากลำบาก เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ชาวจีนดั้นด้นเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง ก็เพื่อแสวงหาความสงบสุขสำหรับตนเอง การทำความสะอาดสุสานนั้น นอกจากทำให้ทุกคนรู้สึกสบายอกสบายใจแล้ว ชาวจีนยังใช้โอกาสของวันหยุด ในเทศกาลเช็งเม้งนี้ออกไปท่องเที่ยว ไปสัมผัสธรรมชาติในขณะที่ ต้นไม้ชนิดต่างๆเริ่มผลิดอกออกใบ ดอกไม้นานาพันธุ์บานสะพรั่งในยามนี้ ชาวจีนขึ้นชื่อในเรื่องความขยันขันแข็งและประหยัดอดออม ปกติก็หาเวลาออกไปท่องเที่ยวนอกบ้านไม่ค่อยได้ ทุกคนจึงมักจะถือโอกาสช่วงที่ทำความสะอาดสุสานออกไปชมทิวทัศน์ของฤดูใบไม้ผลิ ฤดูที่อากาศกำลังค่อยๆอบอุ่นขึ้น คนจีนจึงเรียกกิจกรรมในเทศกาลเช็งเม้งว่า"เดินเล่นในฤดูใบไม้ผลิ" รัฐบาลจีนกำหนดให้วันเช็งเม้งเป็นวัน"เทศกาลทำ ความสะอาดสุสานของประชาชาติ" จัดให้มีการทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพื่อให้ประชาชนแสดงความรำลึกถึงญาติมิตรที่ล่วงลับ พร้อมกับให้ประชาชนจีนทั้งประเทศ หยุดงาน 1 วัน เพื่อให้ครอบครัวสามารถออกไปท่องเที่ยวตามชานเมือง เพื่อเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมจีนต่อไป

ท่านผู้ฟังคะ รายการ"เล่าเรื่องเมืองจีน" วันนี้ ดิฉันขอแนะนำวันเทศกาลเช็งเม้งเพียงเท่านี้ หากท่านสนใจ เกร็ดความรู้เรื่องใดเกี่ยวกับเมืองจีน กรุณาเขียนจดหมายไป คุยกับเราได้นะคะ และสำหรับวันนี้ รายการ"เล่าเรื่องเมืองจีน" ขอจบลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ


รูปภาพของ มงคล

จูชังเปี้ย


จูชังเปี้ย หรือ ขนมเปี๊ยะกรอบ
ขนมไหว้เทศกาลเช็งเม็ง

จาก หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ cul.hcu.ac.th/chagmang.htm

 

"เช็งเม้ง" เป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ ที่ฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน โดยกำหนดว่าปีหนึ่งแบ่งเวลาเป็น 24 ช่วง เดือนหนึ่ง มี 2 ช่วง

การไหว้เช็งเม้ง ถือเอาช่วงหนึ่งของเดือน 3 เป็นช่วงเวลาของการไหว้ ธรรมเนียมนี้มีผู้รู้เล่าว่าได้สืบทอดต่อกันมาประมาณ 3800 ปีแล้ว โดยคนจีนในไทยนิยมไหว้ในวันที่ 5 เมษายน ซึ่งยังตกอยู่ในช่วงเดือน 3 ของจีน ของที่ใช้ไหว้ก็เหมือนการไหว้ในเทศกาลอื่น ว่ามีของคาวพวก หมู เป็ด ไก่ มีการจัดการกับข้าวที่คิดว่าบรรพบุรุษชอบ บางบ้านก็เลือกชนิดที่ลูกหลานชอบด้วย แล้วก็มีขนมไหว้ มีผลไม้ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทองโดยต้องไหว้เข้าที่ก่อน แล้วจึงไหว้บรรพบุรุษ ฟังมาว่า มีเหมือนกันที่มีการนิมนต์พระจีนไปสวดด้วย แต่มีน้อยมากเรื่องที่น่าสนใจในวันเช็งเม้งจึงน่าจะเป็นเรื่องของฮวงซุ้ย จริง ๆ

แล้วคำว่า ฮวงซุ้ย ในภาษาจีนไม่มี มีแต่คำว่า ฮวงจุ้ย ซึ่งคำว่า ฮวงจุ้ยนี้เป็นภาษาแต้จิ๋ว ถ้าออกเสียงแบบจีนกลางจะเป็น "ฟงซุ่ย" ก็ได้สันนิษฐานว่า เป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำใดคำหนึ่ง แล้วกลายเป็นฮวงซุ้ยไป คำว่าฮวงจุ้ยนี้ มีผู้แปลว่า "ภูมิพยากรณ์" สำหรับฮวงจุ้ยนี้ คนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อถือมาก เรื่องการเลือกที่และการสร้างบ้าน ว่าต้องให้ถูกโฉลก หรือถูกต้องตามตำราฮวงจุ้ย โดยเชื่อกันว่าในแต่ละที่จะมีพลังลึกลับที่เรียกว่า "แสงที่" แฝงอยู่ การเลือกที่ได้ถูกต้อง และสร้างบ้านได้ถูกหลักฮวงจุ้ย แสงที่จะยิ่งช่วยเสริมให้ที่ตรงนั้นถูกโฉลกกับเจ้าของทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้าศาสตร์เรื่องฮวงจุ้ยนี้ ไม่เพียงแต่ใช้กับที่อยู่อาศัยของคนเป็น ซึ่งคนจีนเรียกว่า "เอี๊ยงกัง" เท่านั้น กับ "อิมกัง" ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของคนตาย หรือบ้านของบรรพบุรุษในปรโลก ก็ต้องดูให้ถูกโฉลกด้วย การเลือก "ฮวงซุ้ย" หรือสุสานของบรรพบุรุษ จึงต้องมีการเลือกที่และดูทิศทางให้ถูกต้องตามตำรา เพื่อให้ถูกโฉลกกับทั้ง "อิมกัง" และ "เอี้ยงกัง" จะได้ส่งผลสะท้อนถึงลูกหลานให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ฮวงจุ้ยที่นิยมกันมาก คือ ตรงหน้าที่ต้องให้มีน้ำเพราะคนจีนเปรียบน้ำเป็นเงินทองโชคลาภ เมื่อตีความให้ลึกลงไป จะพบว่าคนจีนมีความผูกพันกับการเกษตรกรรมมาแต่โบราณ การมีน้ำหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ความสามารถในการเพาะปลูกที่จะทำได้ง่าย มีน้ำกินน้ำใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมา ที่ใดมีน้ำ ที่นั้นย่อมเจริญ ด้วยมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือน

สำหรับการเลือกที่ "ฮวงซุ้ย" ก็อนุโลมว่า น้ำที่อยู่หน้าที่อาจเป็น "น้ำไกล" คืออยู่ห่างออกไปเป็นกิโล ไม่จำเป็นต้องว่ามีน้ำอยู่ติดที่ แต่มองไปข้างหน้าแล้วแลเห็นน้ำ ส่วนข้างๆ ที่ที่นิยมกันมาก คือ ชอบให้ดูว่าที่นี้เสมือนหนึ่งมีแขนขา ถ้าเข้าตำรา จ้อแชเล้ง อิ๊วแป๊ะโฮ้ว ได้ก็ยิ่งดี

จ้อแซเล้ง แปลว่า ซ้ายมังกรเขียว
อิ๊วแป๊ะโฮ้ว แปลว่า ขวาพยัคฆ์ขาว
ตรงนี้อธิบายลำบาก ต้องขอผ่าน ส่วนด้านหลังของที่นิยมให้เป็นภูเขา เปรียบเสมือนการนั่งเก้าอี้ที่มีพนักหลัง เวลานั่งจะได้พิงสบาย ยิ่งถ้าเป็นภูเขาโอบล้อมแล้วค่อยๆ ลาดมาถึงข้างๆ ของที่ ก็ยิ่งดีมากเหมือนเก้าอี้ที่มีเท้าแขน นั่งสบายยิ่งขึ้นไปอีก มือไม้มีที่วางไม่เกะกะ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ฮวงจุ้ยใดๆ จะให้ได้มา หรือจะให้มีคุณ ก็ต่อเมื่อเจ้าของที่หรือผู้อยู่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะให้มีคุณ ก็ต่อเมื่อเจ้าของที่หรือผู้อยู่มีคุณสมบัติครบถ้วน 2 ประการที่เป็นแก่นของปรัชญาแท้ๆ เป็นคำจีนกล่าวได้ 3 คำ คือ อิก-เต็ก, หยี-เห็ง, ซา-ฮวงจุ้ย

อิก แปลว่า หนึ่ง
เต็ก แปลว่า คุณธรรม
หยี แปลว่า หรือสอง
เห็ง แปลว่า เฮง แปลว่าโชคดี ในที่นี้หมายถึงบุญวาสนา
ซา แปลว่า สาม

ฮวงจุ้ยนั้น ในทางปฏิบัติ คือ การที่คนเราได้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า รวมความแล้ว คนเรานั้น หนึ่งต้องมีคุณธรรม สองต้องมีบุญวาสนาจึงจะมีสาม คือ ชีวิตที่ดี ได้อยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวย ก้าวหน้า

ไม่ต้องดูอื่นไกล บรรดาราชวงศ์จีนที่พากันล่มสลายแม้ว่าจะสร้างปราสาทราชวังที่ดี ตามตำราฮวงจุ้ยที่ดีที่สุด สร้างสุสานราชวงศ์ด้วยที่ฮวงจุ้ยที่ดีที่สุด พร้อมบุญญาธิการอันเปี่ยมล้นที่ได้เป็นถึงจักรพรรดิ แต่ที่ล่มสลายไปจนหมดทุกราชวงศ์ ไม่ใช้เพราะผู้เป็นใหญ่ขาดคุณธรรมหรอกหรือไปเช็งเม้ง

เทศกาลเช็งเม้งเป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน โดยกำหนดให้ไหว้ภายใน 15 วัน แรกของเดือนวันไหนก็ได้ ซึ่งที่เมืองไทยนิยมไปไหว้ในวันที่ 5 เมษายน แต่บางบ้านก็อาศัยดูวันดี และก็มีอีกหลายบ้านที่อาศัยดูวันสะดวก

ตำนานการไหว้ที่ฮวงซุ้ย มาจากว่า เดือน 3 เป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม สมควรแก่การไปชมทิวทัศน์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน แทนการไหว้อยู่ในบ้านแต่ต้องไปไหว้ในช่วงเช้า อย่าให้เลย 12.00 น. เมื่อไปถึงสุสานให้ไหว้ศาลเจ้าที่แป๊ะกงด้วยของคาวของหวาน ผลไม้ ขนมอี๊ 5 ที่ 5 ถ้วย เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้งห้า

เวลาจุดธูปไหว้ ก็ต้องไหว้ธูป 5 ดอก บางแห่งมีไหว้เจ้าประตู หรือที่เรียกกันว่า "มึ่งซิ้ง" ก็ต้องไหว้ธูปเพิ่มอีก 2 ดอก ปักที่เสาประตูข้างละดอก จากนั้นจึงเข้าไปไหว้บรรพบุรุษที่หลุม ซึ่งทางสุสานจะปัดกวาดทำความสะอาด ดายหญ้า และกางเต็นไว้ให้ ถ้าเราสั่ง โดยเสียค่าบริการให้เข้าไป ของไหว้ที่หลุมมี 2 ชุด
ชุดหนึ่งไหว้บรรพบุรุษ อีกชุดหนึ่งไหว้โท้วตี่ซิ้ง คือ เทพยดาผืนดิน

ของไหว้บรรพบุรุษมีของคาว ของหวาน ผลไม้ โดยนิยมกันว่าต้องมีขนมไหว้เป็น "จูชังเปี้ย" หรือ "ขนมเปี๊ยะกรอบ" และมีกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ แถมด้วยอาหารน้ำ 1 อย่าง จะเป็นน้ำแกง หรือขนมอี๊ก็ได้

อย่างไรก็ตามแผ่นดินใหญ่และทำตาม ก็จะเอา "หอยแครงลวก" ไปไหว้ด้วย และจะช่วยกันกินหอยแครงตรงฮวงซุ้ยนั่นเอง ส่วนเปลือกหอยที่เหลือจะโปรยไว้บนเนินดินจริง ๆ แล้ว ธรรมเนียมนี้มีลูกหลานจีนในไทยน้อยมากที่รู้ และตำนานที่มาของธรรมเนียมก็ยิ่งน้อยกว่าน้อยที่รู้ ซึ่งที่มาของธรรมเนียม มาจากตำนานของ 1 ใน 24 ลูกกตัญญูของจีนที่ขึ้นชื่อของจีนที่ขึ้นชื่อ เป็นลูกหลานกตัญญูสุดยอดจนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

ตำนานเรื่องนี้ ซินแสเล่าให้ฟัง แต่จำชื่อไม่ได้ จำได้แต่ว่าเป็นเรื่องของ 1 ใน 24 ลูกกตัญญูเกิดมาเป็นกำพร้าทั้งบิดามารดา ฐานะก็ยากจน แต่ที่สุดก็ตั้งตัวได้ กลายเป็นผู้มีอันจะกิน ด้วยความเป็นกำพร้าไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่เลย แต่ชายคนนี้ก็ยังอยากจะได้เห็นพ่อแม่สักครั้ง จึงไหว้เจ้าอธิษฐานขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดมา ว่าอยากจะพบและเห็นหน้าบุพการี

วันหนึ่ง จึงมีเจ้ามาเข้าฝันว่า เวลาไปไหว้เช็งเม้ง ให้ชายคนนี้เอาหอยแครงลวกไปไหวพ่อแม่ แล้วแกะเนื้อออกกินตรงฮวงซุ้ยนั้น ตรงนี้เขามีคำจีนว่า "กุ๊กเน้กเซียงเกี่ยง"
กุ๊ก แปลว่า กระดูก
เน้ก แปลว่า เนื้อ
เซี่ยงเกียง แปลว่า เจอกัน
แปลทั้งความ คือ ให้กระดูกเนื้อเจอกัน

จึงเป็นเคล็ดว่า เมื่อเอาหอยไปไหว้ ก็ต้องแกะเปลือกเอา "เนื้อ" ออกมากิน จึงจะเกิดการ "กระดูกเนื้อเจอกัน" กระดูกคือพ่อแม่ เนื้อคือลูก เป็นการอุปมาอุปไมยว่า พ่อแม่ลูกได้เจอกันนั่นเอง ตกกลางคืน ชายหนุ่มก็ฝันว่า พ่อแม่ได้มาหา พร้อมทำนายโชคชะตาว่า เขาจะก้าวหน้าร่ำรวย และโชคดีมีสุขจากการเป็นลูกกตัญญู จึงกลายเป็นธรรมเนียมเอาหอยแครงไปไหว้เช็งเม้งสืบต่อมา นอกจากนี้ก็มีของไหว้ของเทพยดาผืนดิน

ซึ่งเหมือนของไหว้แป๊ะกง การไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย มีธรรมเนียมการเอาสายรุ้งไปแต่งโปรยไว้บนเนินดินเหนือหลุม ถ้าไหว้เป็นปีแรก จะใช้สายรุ้งสีแดงโดยเฉพาะ ปีต่อๆ มาจึงเล่นหลายสีได้ แต่มีบางบ้านลูกหลานเอาธงหลากสีไปปักไว้เต็มไปหมด ฟังมาว่า เรื่องการปักธงนี้ หลายบ้านจะถือมากว่าห้ามปักเด็ดขาด เพราะถือว่าการมีของแหลมทิ่มแทงเข้าใส่บนหลุม อาจทำให้หลังคาบ้านบรรพบุรุษในอิมกัง (โลกของคนตาย) รั่วได้

ในการไหว้ต้องไหว้เทพยดาผืนดินก่อนด้วยธูป 5 ดอก เพราะถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่
จากนั้นจึงไหว้บรรพบุรุษด้วยธูป 3 ดอก และต้องไหว้ 3 รอบ (เฉพาะบรรพบุรุษ) รอจนไหว้ครั้งที่ 3 แล้ว จึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง
จากนั้นก็จุดประทัดส่งท้าย

เรื่องธรรมเนียมการจุดประทัดนี้ เขาว่าเพื่อให้เสียงอันดังช่วยขับไล่สิ่งไม่ดี ไม่ให้เข้าใกล้กวนบรรพบุรุษของเรา แล้วเลยมีการถือกันว่าเพิ่มด้วยว่า ประทัดนี้ยิ่งดังยิ่งดี จะทำให้ลูกหลานยิ่งรวย ปีละครั้งที่ลูกหลานจะได้ไปเยี่ยมร่างของบรรพบุรุษ ที่แม้นสังขารท่านอาจสูญสิ้นไปแล้ว แต่บุญคุณที่เลี้ยงลูกมาจนเติบใหญ่ยังค้ำฟ้าอยู่ชั่วกาลนาน ความกตัญญูรู้คุณที่ลูกควรมี จะมากหรือน้อย ก็อยู่ที่การปฏิบัตินี้เอง

รูปภาพของ มงคล

วิธีการปฏิบัติ ในเทศกาลเช็งเม้ง

จากคุณ   world  www.guitarthai.com/musicboard/question.asp?QID=1394


เป็นเทศกาลไหว้บรรพบุรุษของชนเชื้อสายจีนที่ฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน ตรงกับวันที่ 4 ของเดือนเมษายนในปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือน 5 ของไทย จะเริ่มต้นตั้งแต่ 15 วันก่อนวันที่ 5 เมษายนและหลังอีก 10 วัน เป็นเทศกาลแห่งความแจ่มใส และสว่าง มีการจัดฉลองในประเทศจีนมาหลายพันปีแล้ว แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่แสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นวันเกี่ยวกับชีวิตและครอบครัวด้วย เชงเม้งเริ่มต้นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศแจ่มใสและสว่าง (เป็นที่มาสำหรับชื่อเทศกาลนี้) เวลานี้เป็นช่วงที่มีผักหญ้ากำลังขึ้น และมีเทศกาลฉลองพระเจ้าเสด็จกลับคืนชีวิต

ที่มาของเทศกาลเชงเม้ง

เกิดจากการที่ประชาชนชาวจีนมีคุณธรรมอันดีงาม ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลสามารถเดินทางกลับมาไหว้บรรพบุรุษที่สุสานหรือวัดที่มีบัวบรรจุกระดูกบรรพบุรุษ ก่อนวันไหว้ต้องมีการไปทำความสะอาดบริเวณฮวงซุ้ย ทาสีฮวงซุ้ยใหม่ เขียนตัวหนังสือให้ชัดเจน เมื่อถึงวันต้องมีการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ หมูต้ม ไก่หรือเป็ดต้ม (อาจจะมี กุ้งต้ม ปูต้ม) ไข่ต้ม เส้นบะหมี่เหลือง ปลาหมึกแห้ง ขนมถ้วยฟู ขนมเต่า ข้าวเหนียวกวน สับปะรด เหล้าและน้ำชา เครื่องตกแต่งฮวงซุ้ย (บ่องจั้ว) ซึ่งเป็นกระดาษสีต่างๆ กระดาษเงิน กระดาษทอง

การเซ่นไหว้

ก่อนการเซ่นไหว้จะเริ่มตกแต่งฮวงชุ้ยด้วยกระดาษสีต่าง ๆ จัดกระถางธูป ที่ปักเทียน จัดเครื่องไหว้และเริ่มไหว้เจ้าที่ก่อน ซึ่งเครื่องเซ่นไหว้เหมือนของบรรพบุรุษแต่เพิ่มขนมจันอับ(แต่เหลี่ยง)ซึ่งเป็นขนมแห้งจีนแบบโบราณ มี 5 อย่างได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ฟักเชื่อมและข้าวพอง แล้วจึงไหว้บรรพบุรุษ ระหว่างนั้นมีการเติมน้ำชา และเหล้าเพิ่มเติม 2-3 ครั้ง มีการเสี่ยงทายว่าบรรพบุรุษอิ่ม หรือยัง โดยการโยนเหรียญ 2 อัน ถ้าขึ้นหัวหรือก้อยทั้งสองอัน แสดงว่ายังไม่เรียบร้อย ให้เติมน้ำชาและเหล้าอีก แต่ถ้าเสี่ยงทายขึ้นหัวและก้อยแสดงว่าอิ่มแล้ว

หลังจากนั้นมีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เพราะเป็นความเชื่อที่ว่า ผู้ตายนั้นสามารถที่จะนำไปใช้ได้หลังชีวิตการตาย และจุดประทัด เพื่อให้มีเสียงดังขับไล่ สิ่งไม่ดี ไม่ให้มา รบกวนบรรพบุรุษ ปัจจุบัน ถือว่าเสียงประทัดยิ่งดังยิ่งดีทำให้ลูกหลานยิ่งรวย

ประวัติพิธีกรรม!!
คนจีนโบราณใช้วิธีนำศพไปฝังตามชายป่าชาวเขา จนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์เซี่ย ต่อมา เริ่มมีการเอาศพใส่โลงมีพิธีกรรม แล้วจึงนำไปฝัง จนถึงสมัยราชวงศ์โจว ขุนนางชื่อ โจวกงจีต้านเป็นคนแรกที่คิดธรรมเนียมการจัดงานศพที่ต้องทำให้ดีที่สุด ถือเป็นเรื่องสำคัญ

โจวกงจีต้าน ให้ถือเป็นธรรมเนียมเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์พระศพให้ใส่โลงที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง 4 ชั้น พร้อมใส่เครื่องจำเป็นใช้สอยลงไปด้วย และทำพิธีฝังเมื่อครบ 7 เดือน

ระดับเจ้าเมือง โลงศพให้เป็นไม้เนื้อแข็ง 3 ชั้น ฝังเมื่อตายครบ 5 เดือน
ระดับขุนนาง ใส่โลงศพไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้น ฝังเมื่อตายครบ 3 เดือน
ระดับบัณฑิต ใส่โลงไม้เนื้อธรรมดาชั้นเดียว ฝังเมื่อตายครบเดือน

นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดประเพณีการไว้ทุกข์ เช่นการไว้ทุกข์พ่อแม่ต้องนาน 3 ปี และ 3 เดือนแรกลูกหลานต้องกินแต่เข้าต้ม

ส่วนธรรมเนียมการหาฮวงซุ้ยดี ๆ ฝังศพเริ่มเมื่อ สมัย จิ๊นซีฮ่องแต้ โดยทรงเริ่มสร้างฮวงซุ้ย ให้ตัวเองตั้งแต้ทรงเริ่มครองราชย์

มีข้อสังเกตว่า ลักษณะของฮวงซุ้ยจะเป็น แบบ อยู่ใกล้ทำให้สะดวกต่อการไปควบคุมดูแลก่อสร้าง ลูกหลานไปไหว้ง่าย เป็นทำเลดี
 



วิธีการปฏิบัติในเทศกาลเช็งเม้ง

คนจีนยกย่องความกตัญญูกตเวทีบิดามารดาและเอาใจใส่ในพิธีการเคารพอย่างเคร่งครัด ซึ่งเห็นอย่างชัดเจนในขนบธรรมเนียมการบวงสรวงบรรพบุรุษ
ครั้นโบราณกาลได้กำหนดวันขึ้นสำหรับทำพิธีเคารพศพอย่างกว้างขวางและเพื่อเกียรติยศเหล่าบรรพชน แม้จะมีความแตกต่างในแต่ละครอบครัว

พิธีนี้มักทำกันใน 2-3 วันแรกตามลำดับก่อนหลังหรือเอาอย่าง เช็งเม้ง ซึ่งเป็นประเพณียิ่งใหญ่ประเพณีหนึ่งในต้นเดือนเมษายน เดือนซึ่งน้ำแข็งเริ่มละลายและความมีชีวิตชีวาได้กลับมาอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ ในปี1935 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กำหนดวันเช็งเม้งขึ้น ซึ่งเสมือนเป็นการให้ความสำคัญในการทำพิธีเคารพศพนี้

โดยทั่วไปเทศกาลเช็งเม้งมีการพบปะกันด้วยการทำความสะอาดและไหว้บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงการไหว้ด้วยอาหารและสิ่งของต่อบรรพบุรุษด้วยอาหาร ที่นำมาไหว้ส่วนมากเป็นหมูย่างจริงๆส่วนสิ่งของนิยมทำจากระดาษ(กระดาษเงินกระดาษทอง) ที่สามารถทำเป็นรูปแบบต่างๆได้ เช่น เสื้อเชิ้ต เนคไทค์ นาฬิกาข้อมือ และเรือด่วน สิ่งต่างๆเหล่านี้จะถูกเผาเพื่อนำไปสู่ผู้ล่วงลับไปแล้ว บ่อยครั้งที่เงินของ ธนาคารนรก จะถูกเผาไปพร้อมกันด้วย เงินเหล่านี้จะไปหลอกล่อวิญญาณร้ายทั้งหลาย ไม่ให้สนใจสินค้าและไปซื้อได้ด้วยตนเอง ขณะที่เหล่าวิญญาณร้ายกำลังเพลิดเพลินกับเงินนรกสิ่งของที่มีค่า จะผ่านไปถึงบรรพบุรุษอย่างปลอดภัย

นี่เป็นเรื่องของครอบครัวมีการคาดหวังว่า สมาชิกทั้งหมดจะเดินไปยังที่ตั้งสุสาน เป็นเรื่องปกติที่หลายครอบครัวไม่มีที่ตั้งสุสาน กรณีนี้อาจมี ห้องประชุมแห่งความทรงจำ ซึ่งใกล้เคียงกับสุสานที่พบในที่เผาศพ แผ่นโลหะซึ่งมักมีรูปของบุคคลนั้นถูกวางอยู่บนกำแพงสุสาน การเคารพบรรพบุรุษจะเกิดขึ้นที่นี่รวมทั้งอาหารและสิ่งของจะถูกเผาที่นี่ด้วย

เช็งเม้งมักเกิดขึ้นที่นอกเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ไม่มีสิ่งใดผิดปกติในเรื่องนี้ ในอดีตผู้ที่ล่วงลับแล้วจะถูกฝังนอกกำแพงเมือง ดังนั้นการไหว้บรรพบุรุษจึงต้องเดินทางออกนอกเมือง สมาชิกทั้งหมดจะพยายามมารวมตัวกัน และไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เทศกาลนี้สมาชิกจะได้มีโอกาสประกอบภารกิจร่วมกันและจากเหตุผลนี้จำนวนประเพณีอื่นๆจึงเกิดตามมาด้วย

เทศกาลเช็งเม้งเป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ยในช่วงเดือน 3 ของจีน โดยกำหนดให้ไหว้ภายใน 15 วันแรกของเดือนวันไหนก็ได้ ซึ่งที่เมืองไทยนิยมไปไหว้ในวันที่ 5 เมษายน เมื่อไปถึงสุสานให้ไหว้ศาลเจ้าที่แป๊ะกงด้วย ของคาวของหวาน ผลไม้ ขนมอี๊ 5 ที่ 5 ถ้วย

เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้ง 5 เวลาจุดธูปไหว้ก็ต้องไหว้ธูป 5 ดอก บางแห่งมีไหว้เจ้าประตูหรือที่เรียกกันว่า มึ่งซิ้ง ก็ต้องไหว้ธูปเพิ่มอีก2ดอก ปักที่เสาประตูข้างละดอก จากนั้นจึงเข้าไปไหว้บรรพบุรุษที่หลุมมี 2 ชุด ชุดหนึ่งไหว้บรรพบุรุษอีกชุดหนึ่งไหว้โท้วตี่ซิ้ง คือ เทพยาดาผืนดิน

ของไหว้บรระบุรุษมีของคาว ของหวาน ผลไม้ โดยนิยมกันว่าต้องมีขนมไหว้เป็น จูชังเปี้ย หรือ ขนมเปี๊ยะกรอบ และมีกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ แถมด้วยอาหารน้ำ 1 อย่าง จะเป็นน้ำแกง หรือขนมอี๊ก็ได้

การไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย มีธรรมเนียมการเอาสายรุ้งไปแต่งโปรยไว้บนเนินดินเหนือหลุม ถ้าไหว้เป็นปีแรก จะใช้สายรุ้งสีแดงโดยเฉพาะปีต่อๆ มาจึงเล่นหลายสีได้ แต่มีบางบ้านลูกหลานเอาธงหลายสีไปปักไว้เต็มไปหมด ฟังมาว่าเรื่องการปักธงนี้ หลายบ้านจะถือมากว่าห้ามปักเด็ดขาด เพราะถือว่าการมีของแหลมทิ่มแทงเข้าใส่บนหลุม อาจทำให้หลังคาบ้านบรรพบุรุษในอิมกัง (โลกของคนตาย) รั่วได้ ในการไหว้ต้องไหว้เทพยดาผืนดินก่อนด้วยธูป 5 ดอก เพราะถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่

จากนั้นจึงไหว้บรรพบุรุษด้วยธูป 3 ดอก และต้องไหว้ 3 รอบ (เฉพาะบรรพบุรุษ) รอจนไหว้ครั้งที่ 3 แล้ว จึงเผากระดาษเงืนกระดาษทอง จากนั้นก็จุดประทัดส่งท้าย เพื่อให้เสียงอันดังช่วยในการขับไล่สิ่งไม่ดีไม่ให้เข้าใกล้กวนบรรพบุรุษของเราแล้วเลยมีการถือกันว่าเพิ่มด้วยว่าประทัดนี้ยิ่งดังยิ่งดีจะทำให้ลูกหลานยิ่งรวย

 การนำอาหารมาวางต่อหน้าหินฝั่งศพ เพื่อเป็นการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว อาหารส่วนใหญ่ เช่น
1. ไก่นึ่งทั้งตัว
2. ไข่ต้มที่จะทำการเซ่น ต้องอยู่ในเปลือกและทำการผ่าครึ่งโดยทั้งสองชิ้นนั้นจะต้องเท่าๆ กัน
3. หมูย่างที่ทำการหั่นเป็นชิ้น ๆ
4. หมูอบที่ทำการหั่นเป็นชิ้น ๆแต่ยังมีหนังติดอยู่และกรอบ
5. ขนมจีบชนิดต่าง ๆ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้จัดวางอยู่เหนืออาหารและอยู่ใกล้กับหินฝั่งศพ
1. ตะเกียบหนึ่งชุด
2. แก้วไวท์แบบจีน 3 แก้ว

ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวนั้น จะทำการรินไวท์ใส่ถ้วยที่ได้ทำการเตรียมไว้ นั้นสามครั้ง โดยทุกครั้งนั้นเขาจะต้องคำนับต่อหลุมฝั่งศพ สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวนั้นจะทำการเคารพสามครั้งต่อหน้าหลุมฝั่งศพ โดยที่มือซ้ายนั้น จะต้องทำการถือถ้วยไวท์

บางครอบครัวนั้นจะทำการรับประทานอาหารร่วมกัน ในหน้าหลุมฝั่งศพนั้น การที่กินอาหารที่ได้ทำการถวายต่อบรรพบุรุษนั้นจะนำมาสู่ความโชคดี

พวงมาลัย
แม้ว่าจะไม่มีการพูดถึงในปัจจุบัน การเดินทางไปยังชนบทจะมีการนำดอกช่อดอกวิลโลมาถักเป็นพวงมาลัยให้ผู้หญิงสาวสวมไว้ที่ศีรษะ เป็นความเชื่อว่าจะทำให้หญิงที่ใส่ดูอ่อนเยาว์ตลอดเวลา มีการกล่าวว่า ผู้หญิงที่ไม่สวมพวงมาลัยดอกวิลโลในวันเช็งเม้งจะแก่ลงในไม่ช้า



ทิศทางของการฝังศพ

ก่อนที่จะทำพิธีฝังศพ ลูกหลานของผู้ตายจะมีการดูดวงของผู้ตามก่อนว่า ผู้ตายเกิดปีใดและมีข้อห้าม ในการหันป้ายหินจารึกชื่อไปทางด้านใด เพราะถ้ามีการเลือกทำเลฮวงซุ้ยดี ก็จะทำให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน แต่ในทางกลับกันถ้าทำเลที่ตั้งของฮวงซุ้ยไม่ดีก็ทำให้ลูกหลานไม่เจริญ

หลักการในการเลือกทำเลที่ตั้งมีดังนี้

คนที่เกิดปีชวด ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศเหนือ
คนที่เกิดปีฉลู ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันตกคนที่เกิดปีขาล ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศใต้
คนที่เกิดปีเถาะ ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันออก
คนที่เกิดปีมะโรง ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศเหนือ
คนที่เกิดปีมะเส็ง ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันตก
คนที่เกิดปีมะเมีย ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศใต้
คนที่เกิดปีมะแม ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันออก
คนที่เกิดปีวอก ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศเหนือ
คนที่เกิดปีระกา ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันตก
คนที่เกิดปีจอ ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศใต้
คนที่เกิดปีกุน ป้ายหินจารึกชื่อ ห้ามหันไปทางด้านทิศตะวันออก

 


 เทศกาล "เช็งเม้ง"
เป็นเทศกาลประจำปีในการบูชาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ของชาวจีน การบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) และการไว้ทุกข์ (Mourning) ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดพิธีกรรมหนึ่งของชาวจีน และปฏิบัติกันแพร่หลาย สืบมาหลายพันปีจวบจนทุกวันนี้ วันเช็งเม้ง แท้จริงแล้วก็คือ วันบูชาบรรพบุรุษ วันทำความสะอาดฮวงซุ้ย แล้วก็เลยถือโอกาสทำให้เป็นวันรวมญาติพี่น้อง ไปด้วยเลย (รุ่นน้องที่มาร่วมบางคนยังบอกว่า วันนี้แหละพี่ ที่จะได้กินแต่อาหารดีๆ ทั้งนั้น.) ปกติจะตรงกับวันที่ 4 ของเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ในฤดูร้อน อากาศดี และสดชื่น
เช็ง หมายความถึง ความบริสุทธิ์ สะอาด และ เม้ง หมายความถึง ความฉลาด
เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกัน เช็งเม้ง ก็จะหมายความว่า การทำความสะอาดและ ความถูกต้อง

พิธีกรรมในงานเช็งเม้ง ไม่ได้เป็นแค่เพียง การกำจัดวัชพืช หรือการทำความสะอาดรอบหลุมฝังศพ หรือแค่การนำดอกไม้ใหม่มาแทนที่ดอกไม้ที่เหื่ยวเท่านั้น แต่รวมถึงการอุทิศส่วนกุศลไปยังบรรพบุรุษที่ตายจากไปแล้ว โดยการจุดธูปเทียน และการเผากระดาษเงินกระดาษทอง รวมทั้งกระดาษที่จำลองเป็นบ้าน รถยนตร์ ที่เรียกว่า การเผากงเต็ก ด้วย

เนื่องจากพิธีกงเต็กเป็นพิธีกรรมที่ทำเพื่อผู้ตายมีกุศลผลบุญมากๆ จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ เริ่มเผยแพร่เข้าไปในประเทศจีน ราวปี พ.ศ. ๖๑๐ โดยเชื่อกันว่า การสวดมนต์ของพระจีน ที่เป็นเพลงมีดนตรีประกอบด้วยก็เข้ามาพร้อมกัน ปัจจุบัน กงเต๊ก มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น บ้านทรงจีน ฝรั่ง ไทย รถยนตร์ เสื้อผ้ากระดาษ โน้ตบุ๊ค ดีวีดี วีซีดี คาราโอเกะ มือถือ กระเป๋าหนังจระเข้ รองเท้าส้นสูง ฯลฯ

ทั้งนี้เป็นความเชื่อ ของชาวจีนที่ว่า เมื่อตายแล้วผู้ตายจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า "อิมกัง" อาจต้องการข้าวของเพื่อความสะดวก เฉกเช่นสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เนื่องจากไม่สามารถเอาสิ่งของ ที่เป็นวัตถุไปด้วยได้ การเผาสิ่งของ (ที่ถูกสมมติ) ไปให้ผู้ตายจึงเป็นหนทางเดียวที่จะส่งสิ่งเหล่านั้นไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าลูกหลานที่ยังอยู่ ยังรักและ ห่วงใย อยากให้บรรบุรุษของตน อยู่อย่างเป็นสุขสะดวกสบาย ถือเป็นการแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาวจีนเลยก็ว่าได้

 บางครอบครัวหลังจาก เซ่นไหว้อาหารให้บรรพบุรุษแล้ว ก็จะทำการรับประทานอาหารร่วมกันที่หน้าหลุมฝังศพ นั้นเลย เป็นเสมือนการออกมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับบรรพบุรุษ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยความเชื่อ ที่ว่า การกินอาหารที่ไหว้บรรพบุรุษจะนำ มาสู่ ความโชคดี

บางครอบครัวจะจุดปะทัด เพื่อกำจัดผีร้ายให้พ้นไป และเพื่อเป็นการบอกกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วว่า พวกเขายังระลึกถึงอยู่เสมอ บางแห่งมีการโปรยสายรุ้ง บนหลุม เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่า หลุมนี้ลูกหลานมาไหว้แล้ว บางบ้านนิยมใช้ธงสีสวยมาปัก ในขณะที่บางบ้าน ไม่นิยมเพราะเชื่อว่า ไม้แหลมของธงจะทิ่มหลังคาบ้านพ่อแม่ในปรโลกทะลุไป (ทำนองเดียวกับที่คนจีน ในฮ่องกงไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษด้วยไก่ ด้วยเหตุผลว่า ไก่ปากแหลม เดี๋ยวจิกกระดาษเงินกระดาษทองของพ่อแม่ เสียหายหมด)

 นอกจากความหมายของพิธีกรรมที่แสดงออกด้วยการ ทำความสะอาด การบูชา การกินอาหาร และอื่นๆ แล้ว อาหารที่นำมาเซ่นไหว้บางอย่างก็มีความหมายซ่อนอยู่ด้วย

ของไหว้ที่เด่น ๆ ในวันนั้น ก็คือ ขนมเปี๊ยะไหว้พิเศษ ที่เรียกว่า "จูชังเปี้ย" แปลว่า ขนมเปี๊ยะต้นหอม ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่ต้นหอมคุณภาพดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า ลูกหลานจะพยายามเลือกเอาของดีของฤดูกาลไปไหว้บรรพบุรุษ บางบ้านมีอาหารพิเศษเป็นหอยแครงลวก ที่ตีความหมายจากวิธีกิน ที่ต้องแกะเปลือกเพื่อกินเนื้อ ดั่งหนึ่งว่า กระดูกและเลือดเนื้อได้เจอกัน กระดูกคือเปลือกหอยแครง

อุปมาเป็นพ่อแม่ที่เหลือแต่กระดูกอยู่ในหลุม เลือดเนื้อ คือ เลือดหอย เนื้อหอย อุปมาเป็นลูกที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข และยังมีเลือดมีเนื้อมีชีวิต เป็นต้น


 

ว่ากันว่า ขงจื๊อ (Confucius) คือ ผู้ให้กำเนิดเทศกาลเช็งเม้ง เขาเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของ การเคารพสักการะบรรพบุรุษ

หลักคำสอนสำคัญของลัทธิขงจื๊อ คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพ่อแม่ และบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยสอนว่า ความกตัญญูช่วยส่งเสริมให้บุคคลเจริญ และวิญญาณของบรรพบุรุษย่อมบันดาล ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข แม้ว่าการไว้ทุกข์ และการบูชาบรรพบุรุษ จะเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ความเชื่อนี้เมื่อได้รับการตอกย้ำ และสนับสนุนจากปรัชญาขงจื๊อ

ลัทธิปรัชญาที่ชาวจีนนับถือมากที่สุด จึงทำให้หยั่งรากลึก และมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า ขงจื๊อ มองเทศกาลเช็งเม้ง ในแง่ของจริยธรรมทางสังคม มากกว่าในแง่อภิปรัชญา

เรื่องชีวิตหลังความตาย (แตกต่าจากศาสนาอื่น) ขงจื๊อถือว่าพิธีต่าง ๆ ที่ทำกันในวันเช็งเม้ง จะเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามในการปลูกฝังความกตัญญูกตเวที แก่ชนรุ่นหลัง เป็นโอกาสที่พี่น้อง ลูกหลานได้มาพบปะกัน และประเพณีก็เป็นเครื่องร้อยรัดผู้คนในสังคมเข้าไว้ ด้วยกัน

ตาม ทฤษฎีพิธีกรรม ของขงจื๊อ จิตใจของคนเรามีคุณลักษณะ ๒ ประการคือ "สติปัญญา" (Intellect) และ "อารมณ์" (Emotion) เมื่อคนที่เรารักตายลง เรารู้ด้วยสติปัญญาว่าผู้ตายได้ตายไปแล้ว และก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่จะทำให้เชื่อว่าวิญญาณจะอยู่เป็นอมตะ หากเราทำตามสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียว เราก็ไม่จำเป็นต้อง ทำพิธีไว้ทุกข์ใดๆ

แต่เนื่องจาก จิตใจมนุษย์ มีคุณลักษณะของ "อารมณ์" อยู่ด้วย อันเป็นตัวที่ทำให้เราเกิด ความหวังว่า คนที่เรารักเมื่อตายไปแล้ว อาจจะกลับมีชีวิตได้อีก หรือว่า  วิญญาณของเขาอาจจะยังคงอยู่ต่อไปในโลกอื่น หากเราถือเอาตามความนึกฝันนี้ อย่างเดียวเราก็กลายเป็นคนเชื่อถือในไสยศาสตร์ และปฏิเสธการคิดด้วยสติปัญญาไป
 
ใน "หนังสือแห่งพิธีกรรม" ขงจื้อกล่าวว่า
"ในการเกี่ยวข้องกับคนตาย ถ้าเราปฏิบัติต่อ ผู้ตายเหมือนกับว่า เขาได้ตายไปจริงๆ นั่นเท่ากับว่า เราขาดความรักความผูกพันไป ซึ่งเป็นการไม่สมควร แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้ตาย เหมือนกับว่าเขายังมีชีวิตอยู่จริงๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราขาดสติปัญญาซึ่งก็เป็นการไม่สมควร อีกเช่นกัน"

หมายความว่าเราไม่สามารถจะปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้ และตามที่เราหวัง อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เราควร ปฏิบัติต่อคนตายตามที่เรารู้และตามที่เราหวังด้วยทั้งสองอย่าง

นอกจากนี้ ในหนังสือชื่อ "ซุนจื๊อ" บทที่ว่าด้วย "เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรม" (Treatise on Rites) ของซุนจื๊อ สานุศิษย์คนสำคัญของขงจื๊อ ยังกล่าวไว้ด้วยว่า

"พิธีกรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อชีวิต และความตายก็ถือ เป็นจุดสุดท้าย ถ้าเราปฏิบัติต่อจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายดีแล้ว วิถีทางของความเป็นมนุษย์ก็จะสมบูรณ์ ถ้าเราปฏิบัติบิดามารดาด้วยดีในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ แต่มิได้ปฏิบัติต่อท่านเมื่อท่านถึงแก่กรรมลง นั่นก็เท่ากับ ว่าเราให้ความเคารพต่อพ่อแม่ในขณะที่ท่านรู้เท่านั้น และได้ละลายท่านเมื่อท่านไม่รู้ ความตายของคนๆ หนึ่ง หมายความว่า เขาจากเราไปชั่วนิรันดร จึงนับเป็น โอกาสสุดท้ายที่ลูกจะได้รับใช้พ่อแม่

ดังนั้นหน้าที่ของพิธีไว้ทุกข์ก็คือ การทำความหมายของชีวิต และความตาย ให้ชัดเจน เป็นการอำลาผู้ตายด้วยความเศร้าและความเคารพ และเป็นการทำจุดสุดท้ายของมนุษย์ให้สมบูรณ์"

ในบทเดียวกัน ซุนจื๊อ กล่าวว่า "พิธีบูชาเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกรักใคร่ผูกพันของมนุษย์ เป็นการแสดงถึง ความสูงส่งของจิตใจ ความซื่อสัตย์ ความรัก และความเคารพ และนับเป็นความประพฤติอันเหมาะสมของมนุษย์ ในขณะที่บุคคลธรรมดาเห็นพิธีกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีเทวดา"

อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวว่า ด้วยการตีความพิธีกรรมและความตายในลักษณะนี้นี่เอง ความหมายของพิธีบูชา ในลัทธิขงจื๊อ เลยกลายเป็นเรื่องของอารมณ์แบบกวี มากกว่าที่จะเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนา

แล้ว คนญี่ปุ่น ล่ะ เขามีวิธีคิด และคติความเชื่อแบบใด เพราะเราไม่ค่อยเคยเห็นคนญี่ปุ่นเผากงเต็ก หรือบูชาบรรพบุรุษกันเลย ?
ในประเด็นนี้ ว่ากันจริง ๆ แล้ว ศาสนา และลัทธิความเชื่อที่คนญี่ปุ่นนับถือ ค่อนข้างแตกต่างกับขาวจีน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือ ลัทธิชินโต (บางคนว่าเป็นศาสนาแต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่) ผสม ๆ อยู่กับ พุทธศาสนานิกายมหายานหรือ เซ็น

"ความตาย" ของชาวญี่ปุ่น คือ การสิ้นสุดแห่งชีวิต ไม่รับรู้อีกต่อไป หากใครนับถือพุทธ ก็คือ การรอวันกลับมาเกิดใหม่เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพิธีกรรมส่งข้าวของเครื่องใช้ให้กับผู้ตาย นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยบูชาบรรพบุรุษแบบจีน

มีผู้ให้ข้อสังเกตว่าพระในลัทธิชินโต จะเกี่ยวข้องกับประชาชนในพิธีกรรมต่างๆ ก็จริง แต่จะเกี่ยวข้องเฉพาะมีชีวิตอยู่เท่านั้น

ส่วนการทำพิธีเมื่อตายแล้ว ชินโตไม่เกี่ยวข้อง และด้วยอิทธิพลของ แนวคิดชินโต ซึ่งเห็นว่า ศพเป็นสิ่งสกปรก แปดเปื้อน

ทำให้คนญี่ปุ่นออกจะกลัว ๆ และเกลียดคนตายอยู่มาก ในสมัยโบราณบางครั้งจักรพรรดิถึงกับย้ายวัง หลังจากษัตริย์องค์ก่อนตาย ดังนั้น  ขณะที่พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิดของชาวญี่ปุ่นมักทำโดยนักบวชชินโต พิธีกรรมเกี่ยวกับศพกลับมักกระทำโดยพระในพุทธศาสนา

เพราะเหตุนี้จึงไม่เป็นการแปลก ที่ชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาชินโตและศาสนาพุทธรวมกัน เพราะแต่ละศาสนาก็แบ่งหน้าที่ ในการทำพิธีกรรมให้รับช่วงกันได้เป็นคราว ๆ ไป ดังที่มีคำกล่าวว่า “คนญี่ปุ่นเกิดชินโต แต่ตายพุทธ”


ว่าว
ประเพณีอีกอย่างในเทศกาลเช็งเม้งคือการเล่นว่าว เดิมทีคาดว่ามาจากช่วงฤดูใบไม้ร่วง
เริ่มมีอยู่ว่ากองซูบานสร้างนกไม้ขึ้นเพื่อบินเหมือนว่าว เหนือเมืองหลวงในราชวงศ์ซ้องเพื่อที่จะสำรวจเมือง
ว่าวเคยนำคนลอยขึ้นจากพื้นดิน โดยราชวงศ์จีน กระดาษนำมาใช้แทนไม้ในราชวงศ์ที่ห้า มีสิ่งใหม่นำมาใช้ทำว่าวนั่นคือ กระบอกไม้ไผ่โดยฝีมือของ ลียี่ เมื่อลมพัดผ่านในกระบอกมันจะเกิดเสียงคล้ายกับเครื่องดนตรี ชาวจีนเรียกว่า เซียงจากตอนนั้นชาวจีนจึงเรียกว่าวว่า เฟงเซียง เครื่องดนตรีลม

เช็งเม้งเป็นเทศกาลว่าวบินและในหลายๆ สถานที่มีการจัดเทศกาลแข่งขันว่าวขึ้น ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภทกลุ่มมาขับเดี่ยวกันเพื่อสร้างว่าวจินตนาการ



การเปลี่ยนแปลงของการปฏิบัติในเทศกาลเช็งเม้ง

ในปัจจุบันการรักษาและปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีให้ควบคู่ ไปกับการปรับตัวให้เข้ากับแต่ละยุคสมัยได้นั้น ย่อมพบกับสิ่งแตกต่างระหว่างอดีตกับปัจจุบันแน่นอน ซึ่งเทศกาลเชงเม้งที่ศึกษานี้ ในปัจจุบันปัญหาที่พบและเป็นอุปสรรคสำคัญนั้นเห็นจะมีอยู่ 2 กรณีคือ

1.ปัญหาทางเศรษฐกิจ
2.ปัญหาทางด้านที่ดิน

ซึ่ง 2 สิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิธีปฏิบัติของเทศกาลเชงเม้งอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น ในการที่จะจัดของไหว้ในอดีตนั้นจะต้องจัดของไหว้ ให้มีจำนวนชุดเท่ากับจำนวนที่ ที่จะไปไหว้ซึ่งจะเป็นการฟุ่มเฟือย ในปัจจุบันจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยให้เหมาะสมและต้องให้สอดคล้องกับกับขนบธนมเนียมประเพณี ซึ่งอาจแก้โดยทำอาหารไปไหว้เพียงชุดเดียว แต่ไหว้หลายที่หรือไหว้รวมกันหลายครอบครัว เป็นต้น

หรือในการฝังศพ ในอดีตนั้นจะต้องมีการดูที่ทางให้ถูกต้องตามหลัก ฮวงจุ้ย คือด้านหน้าต้องมีแม่น้ำ ด้านหลังต้องมีภูเขา ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำเช่นนี้อาจจะเป็นที่การที่บริเวณตีนเขานั้นอาจจะป้องกันน้ำท่วมได้ และ ด้านหน้าเป็นแม่น้ำนั้นอาจจะทำให้การคมนาคมสะดวกไปมาง่าย แต่ในปัจจุบันนั้นการที่จะหาที่แบบนี้ได้เป็นการยากหรืออาจจะมีอยู่น้อย

การที่จะแก้ปัญหานี้ได้นั้นอาจจะฝังหรือบรรจุกระดูกรวมกัน โดยทำในสื่งที่เรียกว่า คอนโด ซึ่งจะใช้เนื้อที่ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งก็ยังถูกตามหลักฮวงจุ้ยเพียงแต่ฝังรวมกันให้ประหยัดเนื้อที่ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นก็หาใช่ว่าจะผิดหลักประเพณีไม่

เพราะถ้าพิจารณาในจุดประสงค์ของการกระทำเช่นนี้ ก็ไม่ได้ผิดจุดประสงค์ของการทำเทศกาลเชงเม้งเลย เพียงแต่ปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยแต่วัตถุประสงค์ยังเหมือนเดิม ซึ่งในอนาคตปัญหาดังกล่าวอาจจะคลี่คลายลงและการปฏิบัติแบบเดิมที่ทำในอดีต อาจกลับมาทำใหม่อีกครั้งก็เป็นได้หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปเลย โดยไม่ปฏิบัติแบบเดิมอีกก็เป็นได้ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดไม่ได้ หรือในอนาคตปัญหา 2 สิ่งข้างต้น อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญอีกก็เป็นได้

แต่ปัญหาในด้านของบุคคลซึ่งถ้าในอนาคตนั้น ลูกหลานไม่มีความคิดที่จะมีความกตัญญูหรือไม่คิดถึงความสำคัญของบรรพบุรุษ เทศกาลเชงเม้งอาจจะสูญหายไปก็เป็นได้ เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าเหตุที่มีคนปฏิบัติเทศกาลเชงเม้งเพราะคนเรานั้นมีความกตัญญู รู้คุณคน ซึ่งแสดงความเคารพออกมาในเทศกาลเชงเม้ง หรือสาเหตุอื่นอาจจะมาจากการที่คนมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์อาจจะคิดว่า

ความเชื่อที่ว่า การแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนั้น จะทำให้ชีวิตมีความสุข และเจริญรุ่งเรืองนั้นอาจจะไม่เป็นจริง ก็เป็นได้

คุณค่าทางสังคม
ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น เราต้องยอมรับว่าประเพณีของคนไทยและคนจีนนั้น แทบจะกล่าวได้ว่ารวมกันหนึ่ง จนยากที่จะแยกความแตกต่างเพราะอาจเป็นที่ว่า ทั้ง 2 ชนชาตินี้นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน และความคิดที่เหมือนกันคือความกตัญญู

ซึ่งประเพณีที่สอดคล้องตามแนวความคิดนี้ก็คือเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งเชื่อกันว่าการที่แสดงความเคารพ ความกตัญญู เพื่อตอบแทนบุญคุญของท่านนั้นบรรพบุรุษจะช่วยปกป้อง และทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

ซึ่งถ้ามองในด้านของคุณธรรมนั้น ความกตัญญูนั้นอาจถือได้ว่าเป็นยอดของคุณธรรมทั้งปวง ซึ่งเทศกาลเชงเม้งอาจถือได้ว่าเป็นการสั่งสอนทางอ้อมให้คนรู้จักความกตัญญู รู้คุณคน

นอกจากนี้ในเทศกาลเช็งเม้งญาติพี่น้องจะกลับมาอยู่พร้อมหน้าได้พบปะกัน ทำให้ความสนิทสนมระหว่างคนในครอบครัวมีมากขึ้น ซึ่งเมื่อคนมีความกตัญญูแล้ว

ความกตัญญูจะช่วยขัดเกลาจิตใจคนให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักบุญคุณคน ซึ่งจะทำให้สังคมมีความสงบสุขมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการที่มีการไหว้รวมกันทั้งครอบครัวนั้น จะทำให้คนในครอบครัวที่ห่างกันไปมาพูดคุยกัน ทำให้เกิดความสนิทสนม ซึ่งตรงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ เกิดความเจริญรุ่งเรืองก็เป็นได้ เพราะบางทีญาติพี่น้องที่มาเจอกัน อาจนำปัญหามาเล่าสู่กันฟัง และช่วยกันแก้ปัญหาจนสำเร็จ

รูปภาพของ sinsai1975

เช็งเม้ง

ขอสอบถามเรื่องเช็งเม้ง ได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงเรื่องเช็งเม้งของจีนแคะ ว่า วันที่ 1 เดือน 8 จีน  มีจริงไหมครับ พอดีได้ยินท่านได้พูดถึง ขอรบกวนผู้แนะนำด้วย 

และขอฝากถึงผู้ที่จะไปไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลเช็งเม้ง หินที่ด้านหน้าป้ายวิญญาณ ไม่ควรนำสิ่งของไปวางไว้เพราะว่าหินนี้เป็นที่นั่งของบรรพบุรุษนะครับ 

 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal