หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

รู้เรื่องเมืองมังกร 18 ประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 2 "ราชวงศ์ซาง กับ การเกิดขึ้นของอักษรเจียกู่เหวิน"

รูปภาพของ YupSinFa

เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 1899 ชาวนาจีน ที่มณฑลเหอหนาน อำเภออันหยางเสี้ยน หมู่บ้านเสี่ยวตุน ริมฝั่งแม่น้ำหวนเหอ ได้ขุดพบกระดูกสัตว์และกระดองเต่ามีลักษณะเป็นแผ่น ๆ จึงเข้าใจว่านี้คงเป็นกระดูกมังกรเป็นแน่แท้ ดีอกดีใจ รีบนำไปขายให้กับซินซางที่ร้านขายยา เจ้ากระดูกมังกรตามความเชื่อของเหล่าชาวนานี้ ได้ไปตกอยู่ตามร้านขายยาทั่วไปในนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และแพร่ไปถึงยังกรุงปักกิ่ง เมืองหลวง บางชิ้นได้ตกมาถึงหม้อต้มยาของคนครัวที่บ้านของ ขุนนางหวางอี้หรง ตำแหน่งปุโรหิตประจำราชสำนักชิง ในสมัยนั้น เมื่อหวางอี้หรง พบเห็นกระดูกมังกรที่คนครัวอวดนักอวดหนาว่าสุดยอดสรรพคุณต่าง ๆ นา ๆ เขาก็เกิดความสนใจ เพ่งพินิจพิจารณาเจ้ากระดูกมังกรที่ว่านี้ โชคดีที่หวางอี้หรง ท่านเป็นนักศึกษาอักษรจีนโบราณตามหลักจารึกต่าง ๆ และเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีจีน ด้วย เมื่อท่านทราบที่มาของกระดูกมังกรที่ว่านี้ ว่ามาจากอำเภออันหยางเสี้ยน มณฑลเหอหนาน ท่านจึงได้รีบเปิดตำราประวัติศาสตร์ "สื่อจี้" ของท่าน "ซือหม่าเชียน"

(ตำราสื่อจี้ ของ "ซือหม่าเชียน" เป็นตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์จีน ซือหม่าเชียน มีชีวิตอยู่ในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ท่านเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน ที่เป็นผู้บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จีน ย้อนหลังไปก่อนที่ท่านจะเกิด อย่างละเอียด ตำรา สือจี้ นี้ ได้สร้างคุณูปการให้กับวิชาการประวัติศาสตร์จีน ในยุคหลัง อย่างหาที่สุดประมาณได้ นักวิชาการจีน และรัฐบาลจีน จึงได้ประกาศยกย่องให้ท่าน ซือหม่าเชียน เป็น "บิดาแห่งประวัติศาสตร์จีน" - ยับสินฝ่า)

 

อักษรกระดูกสัตว์ และ กระดองเต่า สร้างในสมัยราชวงศ์ซาง ยุคก่อนราชอาณาจักร จีน เมื่อ 600 ปี ก่อนคริสศักราช

 

ปรมาจารย์แห่งประวัติศาสตร์จีน "ซือหม่าเชียน" กับตำรา "สื่อจี้" หนังสือประวัติศาสตร์จีน เล่มแรก และเก่าแก่ที่สุด

หวางอี้หรง เมื่อได้เปิดดูตำราสื่อจี้ ของท่านซือหม่าเชียน จึงได้พบข้อความที่ระบุว่า ซากปรักหักพังของ "อิน" เมืองหลวงของราชวงศ์ซาง ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำหวน ในมณฑลเหอหนานนี้เอง

 

 

แผนที่แสดงอาณาเขตของราชวงศ์ซาง มีศูนย์กลางอยู่บริเวณมณฑลเหอหนาน ปัจจุบัน ราชวงศ์ซางเป็นราชวงศ์ในยุคก่อนราชอาณาจักรจีน เมื่อ สามพันกว่าปีก่อนโน้น ในสมัยนั้น ประวัติศาสตร์จีน เรียกว่า ยุุค ชุน-ชิว คือยุคที่เกิดลัทธิ ประเพณีและความเชื่อ ในปรัชญาจีน เรียกอีกอย่างว่า การเกิดของ "ร้อยสำนักประชันปัญญา - ร้อยบุพผา ประชันโฉม" ลัทธิต่าง ๆ ที่สำคัญของจีน เกิดขึ้นในยุคนี้

เมื่อเป็นดังนี้ ราชสำนักชิง จึงสั่งให้ทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ ผลจากการสำรวจและตรวจขุด ก็พบว่า ข้อสันนิษฐานของหวางอี้หรง ถูกต้องตรงเป๊ะครับ ท่านผู้อ่าน ลายเส้นที่เขียน ๆ ขีด ๆ บนรอยหยักของกระดูกสัตว์ ซึ่งน่าจะเป็นกระดูกวัวกระดูกควาย และกระดองเต่า เป็นส่วนใหญ่ เป็นตัวอักษรจีนโบราณในสมัยราชวงศ์ซาง เมื่อสามพันกว่าปีก่อน จริง ๆ ที่สำคัญ อักษรเหล่านี้ ยังมีหลายตัวที่เหมือนกันกับอักษรจีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ครับพี่น้อง

เหตุที่ตัวอักษรเหล่านี้ ได้จารึกลงบนกระดูกสัตว์และกระดองเต่า จึงเรียกกันว่า "อักษรกระดูก" หรือ "เจียกู่เหวิน" และยิ่งขุดค้นเท่าไหร่ ก็พบกระดูกสัตว์กระดองเต่าที่จารึกตัวอักษรนี้ อีกมากมายหลายพันแผ่น หลายพันชิ้น ในอำเภออันหยางเสี้ยนนี้

จากการตรวจสอบและแกะตัวอักษร จากนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ในสมัยปลายราชวงศ์ชิงในสมัยนั้น พบว่า อักษรกระดองเต่านี้ ได้จารึกเกี่ยวกับคำพยากรณ์เรื่องดินฟ้าอากาศและการเสี่ยงทายต่าง ๆ เช่น ผลผลิตของการเกษตร การเพาะปลูก ความอุดมสมบูรณ์ และโหราพยากรณ์ต่าง ๆ

จากการขุดค้นพบเจียกู่เหวินนี้เอง ได้สร้างคุณค่าและคุณูปการทางประวัติศาสตร์จีนอย่างที่สุดจะประมาณได้ เพราะช่วยให้การศึกษาประวัติศาสตร์จีนในยุคโบราณ ได้กระจ่างแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างเช่น ข้อถกเถียงที่ว่า ฮ่องเต้ หรือกษัตริย์ ในสมัยราชวงศ์ซาง ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในตำรา "สื่อจี้" ของท่านซือหม่าเชียน ที่นักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น เอ่ยว่า เป็นเรื่องเติมแต่เชื่อถือไม่ได้ เป็นตำนานปรำปรา เป็นนิทานหลอกเด็ก ต้องเปลี่ยนความคิดกันอย่างขนานใหญ่ ครับ ไท้ก๋าหยิ่น เพราะรายพระนามของกษัตริย์ราชวงศ์ซาง ที่ซือหม่าเชียนเขียนลงในสื่อจี้ มีชื่อตรงกับรายพระนามของกษัตริย์ราชวงศ์ซางที่จารึกอยู่บนกระดูกสัตว์กระดองเต่า อย่างถูกต้องตรงกัน สุดที่จะคัดค้านได้เลย

อย่างไรก็ดีครับ ท่านผู้อ่าน ในยุคของหวางอี้หรง นั้น เป็นช่วงปลายของราชวงศ์ชิง และต้นสาธารณรัฐ เกิดสงครามปฏิวัติ และสถานการณ์อันยุ่งยากวุ่นวายสับสน และอักษรกระดูกสัตว์กระดองเต่าที่เรียกว่าเจียกู่เหวินนี้ ก็ถูกพวกฝรั่งลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์สงบ แล้ว จึงได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งในสมัยของสาธารณรัฐ เมื่อ ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา โดยมุ่งเป้าที่การขุดในบริเวณอินซู่ หรือซากเมืองหลวงเก่าที่ชื่อ อิน ของราชวงศ์ซาง ผลที่ได้ก็คือ ได้พบกระดูกสัตว์และกระดองเต่าที่มีการจารึกตัวอักษร รวมกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนชิ้น ที่สำคัญ ยังได้พบกับเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องดนตรีที่ทำด้วยหินจนถึงหยกเขียวอันล้ำค่า และที่สำคัญสุดยิ่งกว่านี้ คือได้ขุดพบหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ซางถึง 11 หลุม ที่ประกอบด้วยซากศพของเหล่าข้าหลวง บริวาร และสัตว์เลี้ยง รวมถึง รถศึก รถม้า รวมอยู่ด้วยกันในแต่ละหลุม

หลุมพระศพ และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ซางที่ขุดได้ ในสมัยต้นสาธารณรัฐจีน

จากการศึกษาวิจัยจากบรรดานักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ของจีนในสมัยต้นสาธารณรัฐและสมัยจีนใหม่ พบว่า อักษร เจียกู่เหวิน นี้ มีตัวอักษรอยู่ทั้งสิ้นรวมกันได้ ถึง 4,500 ตัว ในจำนวน 4,500 ตัวอักษรนี้ นักการศึกษาของจีนใหม่ สามารถอ่านและเข้าใจความหมายอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึง 1,700 ตัว นั่นเท่ากับว่า อักษรโบราณที่จารึกอยู่บนกระดูกสัตว์และกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซางเมื่อสามาพันกว่าปีก่อนหน้านี้ เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบันให้คนจีนยุคนี้ได้ใช้กัน ถึง 1,700 ตัวอักษร???

ดังนี้ อักษรเจียกู่เหวิน ทางการจีนได้มีความเห็นอย่างเป็นทางการว่าเป็นรากฐานของตัวอักษรฮั่นในสมัยหลัง และความหมายหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีการบันทึกบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์เหล่านี้ ว่าด้วยเรื่องของการพยากรณ์ ภาระกิจของผู้ปกครอง และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาวะการณ์ในสมัยนั้น เรียกได้ว่า กระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่มีอักษรจารึกอยู่ได้เป็นมรดกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันและมีคุณค่าอย่างที่สุดจะประมาณได้ ที่สำคัญ เป็นหลักฐานที่สรุปว่า ราชวงศ์ซาง ที่ก่อนหน้านี้ กล่าวกันว่า เป็นเพียงตำนาน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า ราชวงศ์ซาง คือประวัติศาสตร์ และมีอาณาจักร มีการดำรงอยู่ จริง หาใช่ตำนาน ดังที่เคยเข้าใจกันมาก่อน ไม่.

คุณค่าของเจียกู่เหวิน

คุณูปการของการค้นพบกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ที่จารึกตัวอักษรเจียกู่เหวิน นอกเหนือจากได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ซาง แล้ว คุณค่าของเจียกู่เหวิน ยังช่วยให้นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีจีน รู้ว่า กษัตริย์สมัยซาง ได้ใช้ปฏิทิน แบบจันทรคติ ผสมผสานกับ ระบบสุริยคติด้วย ซึ่งเป็นรากฐานของการใช้ปฏิทินจีน ที่มีการผสมผสานจันทรคติกับสุริยคติเข้าด้วยกันมาตลอดสามพันกว่าปีจนถึงปัจจุบัน

เกี่ยวกับฮ่องเต้ของราชวงศ์ซาง

ไหงต้องขออธิบายให้กับท่านผู้อ่านทั้งหลายก่อนนะครับ ว่า ราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง ที่ได้เขียนไปแล้ว และที่กำลังเขียนอยู่นี้ ยังเป็นราชวงศ์ที่ไม่ได้รวมกันขึ้นเป็นหนึ่งเดียวของราชอาณาจักรจงกว๋ออันยิ่งใหญ่ แต่อย่างใดนะครับ รวมถึง ราชวงศ์โจว ที่จะกล่าวถึงในตอนหน้า ก็ยังไม่ใช่ราชวงศ์ที่ปกครองจีนอย่างศูนย์รวม โดยเฉพาะราชวงศ์โจว จะเป็นยุคสมัยที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การปกครอง หรือระบอบกษัตริย์ ของจีน ในยุคนั้น เป็นระบบที่มีกษัตริย์ แต่เพียงในนามเท่านั้น ในขณะที่อารยธรรม และลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ได้มีความเจริญเติบโตขึ้นมา ขณะเดียวกันนี้ จีนในสมัยนั้น มีการดำรงคงอยู่และการปกครอง อยู่มากมายหลายรัฐ ชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นหลายสิบ หรือเกือบถึง ร้อย กว่า รัฐ แต่ละรัฐก็มีอธิปไตยปกครองตัวเอง ไม่ขึ้นแก่กัน ราชวงศ์กษัตริย์ ที่มีอยู่ เป็นเพียงประมุขแต่เพียงในนามเท่านั้น หาได้มีอำนาจครอบงำการปกครองของแต่ละรัฐเพียงแต่น้อยเลย เป็นเช่นนี้มานานกว่าเกือบ ๆ พัน ปี จนกระทั่งถึงยุคของ "เจ้าชายอิ๋งเจิ้ง" แห่งรัฐฉิน ได้ปราบดาภิเษกแล้วทำสงครามกลืนรัฐใหญ่ ที่เหลือเพียง 7 รัฐสุดท้าย รวมเป็นราชอาณาจักรจงกว๋ออันยิ่งใหญ่ จวบจนกระทั่งถึงยุคของราชวงศ์ชิง อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน

ยุคของราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจว จึงเป็นยุคของการก่อกำเนิดอารยธรรม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม และลัทธิปรัชญา สามราชวงศ์นี้ ประวัติศาสตร์จีนแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ 1. ยุค ชุน-ชิว (ใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง) อันหมายถึง การเกิด และการสูญสลายของ ราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และการเกิดขึ้น ของ ลัทธิปรัชญาเมธีที่สำคัญที่สุด อันเป็นรากฐานของอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ ที่ส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้ (ในยุคนี้เองครับ ที่เรียกว่า การเกิดขึ้นของ "ร้อยสำนักประชันปัญญา - ร้อยบุพผาประชันโฉม" - จากการถอดสำนวนจีนเป็นสำนวนไทย ของ ท่านอาจารย์ทวีป วรดิลก ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จีน ในประเทศไทย)

ฮ่องเต้หรือกษัตริย์ในราชวงศ์ซาง มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาอยู่ 31 รัชกาล ประวัติศาสตร์จีนบอกว่า ในจำนวนกษัตริย์ 31 พระองค์นี้ คิดเป็นจำนวนรุ่น ได้ 17 ชั่วอายุคน ในระยะเวลารวมกันประมาณ 600 ปี ในระหว่าง 160 ถึง 110 ปี ก่อนการเกิดคริสตศักราช

ฮ่องเต้องค์แรกหรือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาง มีชื่อเรียกว่า ทัง เป็นผู้ที่ทำการโค่นล้ม เจี้ย กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เซี่ย ลงได้ แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ขึ้นมาแทนที่ เซี่ยเจี้ย (ราชวงศ์หรือผู้นำกลุ่มชนของจีนในยุคนั้น ในแต่ละถิ่นแต่ละท้องที่ ก็คือเผ่าต่าง ๆ หรือหัวหน้าเผ่า ที่มีการพูดภาษาสำเนียงที่แตกต่างกัน และต่างก็คงแย่งชิงเอาความเป็นใหญ่ เหนือเผ่าต่าง ๆ ทั้งหลาย) ชนเผ่าซาง นี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ หรือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้นำ (ที่บรรดาเผ่าต่าง ๆ ไม่ยอมรับ หรือไม่สามารถปกครองเหนืออธิปไตยของเผ่าต่าง ๆ ได้) มีอำนาจครอบคลุมเพียงชุมชนเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบถิ่นฐานของตัวเอง และบรรดาหัวหน้าชนเผ่า หรือชุมชน เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เอง ที่เป็นที่มาของรัฐ หรือชุมชนที่ก่อตัวขึ้นเป็นรัฐ ต่าง ๆ ของประชาชาติจีนในยุคนั้น ชั่วแต่ว่ายังไม่ได้รวมกันเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว เหมือนในสมัยราชวงศ์ฉิน ที่เป็นยุคเริ่มต้นของราชอาณาจักรจีน


ซางทังอ๋อง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซาง (ภาพเขียนโบราณ)

เขตอิทธิพล หรือศูนย์กลางของราชวงศ์ซาง ก็ยังคงอยู่ตรงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลือง (หรือแม่น้ำฮวงโห) อันเป็นท้องที่ของมณฑลซานตง และมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน

อารยธรรมและความเจริญทางวัฒนธรรมของราชวงศ์ซาง คือมีตัวอักษรใช้อย่างเป็นแบบแผน ซึ่งได้มีการจารึกลงบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น นอกจากตัวอักษรแล้ว ศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ในสมัยราชวงศ์ซาง ยังมีการผลิตผ้าทอและผ้าไหม จากการขุดค้นภาชนะสัมฤทธิ์สมัยราชวงศ์ซางได้พบรอยผ้าไหมประกอบเป็นลวดลายต่าง ๆ นอกจากผ้าทอและผ้าไหมแล้ว ศิลปะในสมัยราชวงศ์ซาง ยังมีเครื่องใช้สัมฤทธิ์ การถลุงโลหะทำเป็นเครื่องมือเครื่่องใช้มากมายหลายแบบ

ในปี พ.ศ. 2529 เดือนกรกฎาคม รัฐบาลจีนได้ขุดค้นพบอาวุธและภาชนะสัมฤทธิ์เป็นจำนวนมากถึง 5 พันกว่าชิ้นในอำเภอกวงหันเสี้ยน ทางทิศเหนือของนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน(ซื่อชวน) บรรดาเครื่องสัมฤทธิ์ที่พบได้นี้ มีอายุอยู่ในระหว่าง 1,200 ถึง 1,000 ปี ก่อนคริตศักราช ซึ่งเป็นการคำนวนที่ใกล้เคียงแม่นยำที่สุดเพราะวิทยาการสมัยนี้สามารถวัดค่าได้ นักประวัติศาสตร์จีนจึงสรุปว่า เครื่องใช้สัมฤทธิ์เหล่านี้ อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอารยธรรมจีนในสมัยราชวงศ์ซางอยู่ในยุคเดียวกันกับพระเจ้ารามเซสที่ 3 แห่งอาณาจักรไอย์คุปต์ ของอียิปต์


อาวุธและภาชนะสัมฤทธิ์ของอาณาจักรสู่ ที่อยู่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ซาง ทีขุดค้นพบทางตอนเหนือของนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวน(เสฉวน)

การค้นพบนี้ เป็นคำตอบของปริศนาแห่งประวัติศาสตร์จีนที่ว่า อาณาจักรสู่ มีจริงหรือไม่ เพราะจากการจารึกในอักษรกระดองเต่ากระดูกสัตว์ ระบุว่า อาณาจักรซาง มีการสู้รบกับอาณาจักรสู่ และจากการค้นพบนี้อีกเช่นกัน ได้ไขข้อปริศนาว่า อาณาจักรสู่ที่มีอยู่จริง เป็นถิ่นกำเนิดของอารยธรรมจีน อีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากแหล่งอารยธรรมของที่ราบสูงดินเหลืองและลุ่มแม่น้ำฮวงโห

 

รูปหล่อศรีษะมนุษย์ที่ขุดค้นพบของอาณาจักร์สู่ แบบนี้ เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะกรรมที่พบได้ทั่วไปในมณฑลเสฉวน

การล่มสลายของราชวงศ์ซาง

ตามที่ไหงได้กล่าวรับใช้ไปในตอนต้นแล้วว่า กษัตริย์หรือฮ่องเต้ของราชวงศ์ซาง มีอยู่จำนวน 31 องค์ด้วยกัน ในบรรดาฮ่องเต้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีการสืบบัลลังก์กันจากพี่ชาย มาสู่น้องชายส่วนหนึ่ง ( 13 องค์) และจากพ่อ สู่ ลูก อีกส่วนหนึ่ง (17 องค์) หลังจากที่ ทัง ฮ่องเต้องค์แรก สิ้นพระชนม์ไป เจ้าชายไว่ปิง ซึ่งเป็นน้องชายได้สืบสมบัติแทน ถัดมาน้องชายของไว่ปิง ชื่อ จ้งเหริน ก็ขึ้นสืบสมบัติต่อ ต่อจากนี้มาอีกหลายรัชกาล กษัตริย์ซาง ได้มีการต่อสู้กันภายในราชวงศ์เพื่อแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่หลายต่อหลายครั้ง ทำให้อำนาจของศูนย์กลางเสื่อมลง บรรดารัฐต่าง ๆ ใกล้ ๆ ที่เคยขึ้นตรงต่อการปกครอง พากันแข็งข้อ จากการที่เป็นราชวงศ์แต่ในนาม มีเพียงรัฐเล็ก ที่รายล้อมยอมรับอำนาจอธิปไตย หาได้มีรัฐไกล ยอมรับในการปกครองก็ปล่าว และยิ่งมาถูกรัฐที่ยอมรับการปกครองแข็งข้อขึ้นมาอีก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดราชวงศ์ซาง เมื่อชนเผ่า และรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ทางแถบมณฑลซานซีในปัจจุบัน และทางเหนือของมณฑลส่านซี และเขตมองโกเลี่ยใน ในปัจจุบัน ได้เข้ารุกรานราชสำนักซาง โดยมีชนเผ่าตู้ฟาง รวมถึงชนเผ่าเร่ร่อนต่าง ๆ ทางตอนบนของแม่น้ำเหลือง พากันเข้าโจมตีราชสำนักซาง หลายครั้งหลายหนเป็นเวลากว่า 60 ปี ที่มีการต่อสู้

ครั้งสุดท้ายของราชวงศ์ซาง เมื่อกองทัพของรัฐโจว ภายใต้การนำของอ๋องอู่ ราชโอรสของอ๋องเหวิน ที่สิ้นชีวิตไปก่อนที่จะนำทัพมาโจมตีซาง กษัตริย์ซางองค์สุดท้ายพระนามว่าตี้ซิน ได้เกณฑ์กำลังไพร่พลซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกทาส เพราะกำลังทหารส่วนใหญ่ได้ออกไปสู้รบกับชนเผ่าอี้ทางตะวันออก แต่เมื่อไปถึงกองทัพของ โจวอู่อ๋อง ปรากฏว่าพวกทาสเหล่านี้ของซาง ได้หันไปเข้าพวกกับอ๋องอู่ ของโจว แล้วพร้อมใจกันกลับเข้ามาตีกระหน่ำราชสำนักซาง จนได้รับชัยชนะ จนซางตี้ซินเห็นว่าไม่มีทางสู้ได้จึงกระโดดเข้าไปในกองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่ จนสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด

จึงเป็นอันสิ้นสุดยุคของราชวงศ์ซาง ซึ่งตรงกับในช่วงกลางของ 1,100 ปี ก่อนคริสตศักราช

โจวอู่อ๋อง จึงเป็นผู้พิชิต และได้ปราบดาเป็นปฐมฮ่องเต้ ในราชวงศ์โจว แทนที่ตั้งมั่นของราชวงศ์ซาง เป็นพระองค์แรก...

ความวุ่นวายในยุคสมัยของราชวงศ์โจว รัฐต่าง ๆ ที่อยู่ในดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบ จะเป็นอย่างไรต่อการก่อกำเนิดของราชวงศ์โจว กษัตริย์โจวจะมีการปกครองแต่ละรัฐแบบไหน อำนาจของราชสำนักโจวจะไปถึงแต่ละรัฐหรือไม่ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับ.

ขอขอบพระคุณ.
ยับสินฝ่า 085-6242088 แฟกซ์ 053-326197


เรียนท่าน

เรียนท่านอาจารย์ ยับสินฝ่า

ท่านอาจารย์ยับสินฝ่ายอดเยี่ยมจริงๆครับ มีความรู้เรื่องราวและข้อมูลทั้งทางด้านสังคมและประวัติศาสตร์จีน รวมทั้งเรื่องราวของชาวฮักกาอย่างมากมาย

ไหงขอแสดงความเคารพและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ไหงอ่านเรื่องราชวงศ์ซางและการเกิดขึ้นของเจี่ยอักษรกู่เหวินแล้วมีข้อสงสัยที่ไม่เข้าใจบางประการ

จึงขอเรียนถามดังนี้

ข้อ1."อักษรกระดูกสัตว์ และ กระดองเต่า สร้างในสมัยราชวงศ์ซาง ยุคก่อนราชอาณาจักร จีน เมื่อ 600 ปี ก่อนคริสศักราช"

จากข้อความข้างบนนี้ไหงไม่เข้าใจว่าหมายความว่า ราชวงศ์ซางและอักษรเจี่ยกู่เหวินอยู่ในช่วง600ปีก่อนคริสตศักราช หรืออย่างไร 

ข้อ2. "ราชวงศ์ซางเป็นราชวงศ์ในยุคก่อนราชอาณาจักรจีน เมื่อ สามพันกว่าปีก่อนโน้น ในสมัยนั้น ประวัติศาสตร์จีน เรียกว่า ยุุค ชุน-ชิว"

หรือ"ยุคของราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง และราชวงศ์โจว จึงเป็นยุคของการก่อกำเนิดอารยธรรม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม และลัทธิปรัชญา

สามราชวงศ์นี้ ประวัติศาสตร์จีนแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ 1. ยุค ชุน-ชิว (ใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง)"

เท่าที่ไหงเคยเข้าใจยุคชุนชิวอยู่ในสมัยตงโจว(东周)ช่วง770-476หรือ453ปีก่อนตริสตศักราช การที่นักประวัติศาสตร์จีนเรียกยุคนี้ว่าชุนชิว

เนื่องจากในสมัยนั้นมีบันทึกเรื่องราวความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้นชื่อ "บันทึกชุนชิว" ต่อมาถูกปรับปรุงโดยขงจื่อ

นักประวัติศาสตร์ในยุคหลัง จึงเรียกยุคนั้นว่ายุคชุนชิว และถือเอาเหตุการณ์(三家分晋) เป็นการสิ้นสุดของยุคชุนชิว

ข้อ3."ฮ่องเต้องค์แรกหรือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาง มีชื่อเรียกว่า ทัง" หรือ"โจวอู่อ๋อง จึงเป็นผู้พิชิต และได้ปราบดาเป็นปฐมฮ่องเต้ ในราชวงศ์โจว" 

คำว่า"ฮ่องเต้"(皇帝) บัญญัติขึ้นโดยอ๋องฉินหรืออิ๋งเจิ้งหลังจากที่กลืนผนวก6รัฐ รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่น

แล้วรู้สึกว่าตัวเองน่าจะมีผลงานยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์องค์อื่นๆที่ผ่านมาเทียบเท่ากับ三皇五帝 จึงเอา2คำมารวมเป็น皇帝

และตั้งตน秦始皇เป็นหมายถึงฮ่องเต้องค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิน และเป็นฮ่องเต้องค์แรกของจีน 

รูปภาพของ YupSinFa2

ตอบคุณ 过客

สวัสดีครับ คุณกั้วเค่อ ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณ คุณกั้วเค่อเป็นอย่างยิ่งนะครับที่กรุณาติดตามงานเขียนของไหง่ ทำให้ไหง่มีกำลังใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆเกี่ยวกับจีน มารับใช้พวกเรา ชุมชนฮากกา และ อาคันตุกะจากทั่วแคว้นแดนไทยได้ติดตาม รวมถึงไหงได้ทราบว่า ไหงมีแฟน ที่ติดตามผลงานของไหง่มาโดยตลอด เธออยู่ไกลถึงกรุงโรม ประเทศอิตาลี ถึง 2 ท่านเลยละครับ

กรุณาอย่าเรียกไหงว่าอาจารย์เลยครับเพราะไหงไม่ใช่ครูสอนหนังสือที่ไหน อย่างมากก็เป็นผู้จัดการสำนักงานรับสอนภาษาจีนที่เชียงใหม่เท่านี้เองแหละครับ อิอิ.

ขอตอบคำถามแก่คุณกั้วเค่อ ที่กรุณาถามมา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อท่านอื่นที่มีความสงสัยเหมือนกันและ ไหงอาจจะดีดนิ้วเร็วไปหน่อยในการพิมพ์ จึง อาจจะ มีความผิดในเนื้อหาไปบ้าง จึงจะขอตอบทีละข้อเลยนะครับ

1. ใช่แล้วครับ ราชวงศ์ซาง ดำรงคงอยู่ในช่วงระหว่าง 600 ปี ก่อนที่จะมีการเกิดขึ้นของคริสตศักราช ครับ ถ้าเรานับว่า คริสตศักราช ดำรงมาได้เป็นปีที่2,013 ปี ราชวงศ์ซางก็มีอายุตั้งแต่ 2,613 ปี ขึ้นไป ครับ

อักษรเจียกู่เหวิน หรือ อักษรบนกระดองเต่า และ กระดูกสัตว์ ถูกจารึกในสมัยราชวงศ์ซางครับ ดังนั้น จึงมีอายุเท่ากับความเก่าแก่ของยุคราชวงศ์ซาง ครับ

2. ราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน ถือว่า ราชวงศ์เซี่ย เป็นราชวงศ์แรกที่มีการบันทึกได้ของประวัติศาสตร์จีน ครับ นับย้อนหลังไป กว่า 5 พันปี แต่ว่านักประวัติศาสตร์จีน ถือว่าราชวงศ์เซี่ย ยังเป็นเพียงตำนาน ครับ

ต่อมา คือ ราชวงศ์ซาง ได้มีการยอมรับในแวดวงวิชาการนักศึกษาประวัติศาสตร์จีนในประเทศจีน รวมถึงศาสตราจารย์ฟิตเจอรัลด์ แห่งสหรัฐอเมริกาและศาสตราจารย์ร๊อตซินสกี้ ชาวโปแลนด์ ว่า ราชวงศ์ซาง เป็นประวัติศาสตร์จีนและมีอยู่จริง ตามที่ไหงเขียนรับใช้ไปนั่นแหละครับ เพราะจากการที่ได้ขุดค้นพบกระดองเต่า และกระดูกสัตว์ ที่จารึกอักษร ในสมัยราชวงศ์ซาง และขุดค้นพบ โบราณวัตถุและโบราณสถาน ในมณฑลเหอหนาน นั่นแหละครับ

ส่วนเรื่องสมัยราชวงศ์ซาง ที่ไหงว่า เป็นยุค ชุน-ชิว นั้นไหงผิดจังเบอร์ เลยละครับ โชคดีที่ได้ผู้รู้อย่างคุณ กั้วเค่อ เข้ามาบอกนำ ไม่อย่างนั้นท่านผู้อ่านคนอื่น ๆ จะเข้าใจผิดไปด้วย พอดีไหงเพิ่งเขียน เรื่อง ราชวงศ์โจวกับยุคชุน-ชิว และ จ้านกว๋อ จบไปหมาด ๆ แล้วมาเห็นคำถามของคุณกั้วเค่อ พอดี

สรุปว่า ราชวงศ์ซาง ไม่เกี่ยวกับยุค ชุน-ชิว และจ้านกว๋อ ครับเดี๋ยวไหงจะต้องเข้าไปแก้

ยุคชุน-ชิว หรือใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วงเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ต่อจากราชวงศ์โจวตะวันตกและคาบเกี่ยวกับยุคสงครามระหว่างรัฐ (รณรัฐ) หรือจ้านกว๋อนั่นเองครับ

ส่วนที่มาของชื่อยุคว่า ชุน-ชิวอันเป็นชื่อของยุคต้นราชวงศ์โจวตะวันออก ที่นักประวัติศาสตร์จีนตั้งไว้ โดยนำจากที่มาของตำรา"อู่จิง" ที่ท่านขงจื่อ เป็นผู้เขียน อู่จิง หมายถึงตำราว่าด้วยศาสตร์ 5ชนิด โดย ตำราเล่มแรก ชื่อว่า ชุน-ชิว อันเป็นบทบรรยายสภาพทั่วไปในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกเล่มต่อมาคือ ซูจิง อันเป็นตำราว่าด้วยประวัติศาสตร์ เล่มที่สาม ชื่อ ซื่อจิง อันกล่าวถึงบทร้อยกรองต่างๆ เล่มที่ สี่ ซึ่งสูญหายไป แต่ได้มีการแต่งเติมขึ้นมาแทนในยุคหลัง มีชื่อว่าอี้จิง อันว่าด้วยศาสตร์การดนตรี สุดท้าย เล่มที่ ห้า ชื่อ หลี่จี้ เป็นตำราว่าด้วยพิธีกรรม

สรุปว่า ยุคชุน-ชิว มาจากชื่อคัมภีร์เล่มแรกของท่านปรมาจารย์ขงจื่อ นั่นเองครับ ส่วนยุคสงครามระหว่างรัฐหรือจ้านกว๋อเป็นยุคที่รัฐต่าง ๆ ทำสงครามเพื่อชิงความเป็นใหญ่กัน ครับ

ต้องขอขอบพระคุณ คุณกั้วเค่อ เป็นอย่างยิ่งครับที่ช่วยให้ผู้อ่านท่านอื่น ไม่ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดติดไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์

 

3. ข้อนี้เป็นคำถามที่ดีมากครับ ที่คุณกั้วเค่อเข้าใจนั้นไม่ผิดเลยครับ จิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อประกอบพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นมาแล้ว ได้คิดออกแบบชื่อที่จะใช้เรียกตำแหน่งจักรพรรดิ์ว่าควรจะใช้คำไหนดี ที่จะเป็นการบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ และเป็นพระองค์แรก ที่จะเป็นจอมจักรพรรดิ์คิดไปคิดมา จึงปิ้งไอเดียกับคำว่า หวงตี้ คำนี้ ครับ 皇帝 อันเป็นคำพ้องเสียง ของจักรพรรดิ์เหลืองรวมกับคำว่า ตี้ (หรือเต้ในภาษาแต้จิ๋ว)

จิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงคิดว่า ตำแหน่งอ๋อง ( 王 ) หรือกษัตริย์ เล็กเกินไปสำหรับพระองค์เพราะพระองค์ธำรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่ เหนือกษัตริย์ในอดีตทั้ง เซี่ย ซาง และ โจวทุกพระองค์ จิ๋นซี จึงคิดคำเรียกแทนกษัตริย์ จากคำที่ขุนนางผู้ใหญ่และมหาอัครมหาเสนาบดี หลี่ซือ ที่ปรึกษาคู่พระทัย เสนอมา ก็ไม่พอพระทัยและในที่สุด พระองค์ก็ทรงคิดได้ด้วยตัวเอง โดยการนำเอาคำเรียก 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในบรรพกาล คือ "ซานหวง" (สามกษัตริย์) มี เทียนหวาง (กษัตริย์สวรรค์) ตี้หวาง(กษัตริย์พิภพ) และ เหรินหวาง (กษัตริย์มนุษย์) - (สังเกตุว่าก่อนยุคจิ๋นซีฮ่องเต้นั้นกษัตริย์ ยังใช้คำว่า หวาง - 王 คำนี้อยู่นะครับ)มารวมกับคำว่า อู่ตี้ (ห้าจักรพรรดิ์) ได้แก่ หวงตี้ (จักรพรรดิ์เหลือง-บรรพบุรุษของคนจีน)จวนซวี่ ตี้คู่ เหยาตี้ และ ซุ่นตี้ โดยที่อ๋องหรือกษัตริย์เหล่านี้ มีทั้งที่มีอยู่จริงในยุคก่อนหน้าจิ๋นซี และจักรพรรดิ์ในตำนานของราชวงศ์เซี่ย ตามที่ได้เขียนรับใช้ไปแล้ว

จิ๋นซี จึงได้นำคำว่า หวง กับคำว่า ตี้ มารวมกัน ออกเสียงว่า"หวงตี้" 皇帝 มีความหมายเป็นไทยๆ ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และคำนี้ ในภาษาหมิ่นหนาน หรือฮกเกี้ยนใต้ และแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า "ฮ่องเต้" คนไทยจึงคุ้นเคยกับคำ คำ นี้

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ ผสมกับคำขอโทษ นะครับ เพราะคำว่า ฮ่องเต้นั้น เป็นคำที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวไทยอยู่แล้ว ว่า ฮ่องเต้ เป็นคำที่ใช้เรียกกษัตริย์ในประวัติศาสตร์จีน และไหง ก็คุ้นกับคำว่า ฮ่องเต้ จึงใช้คำ คำนี้ ไปโดยที่ยังไม่ได้อธิบายให้กับท่านผู้อ่าน ทราบว่า คำว่าฮ่องเต้ หรือ หวงตี้ นี้เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ ในสมัยของ จิ๋นซีฮ่องเต้ และพระองค์เป็นผู้บัญญัติใช้ คำคำนี้

ไหงจึงใช้คำว่า ฮ่องเต้ ด้วยความเคยชิน และสลับสับเปลี่ยนกับคำว่า กษัตริย์ ซึ่งน่าจะใช้ได้ดีกว่า หรือหากจะใช้คำว่าฮ่องเต้ ไหงน่าจะเปลี่ยนมาเป็นใช้คำว่าอ๋อง 王 คำนี้จะถูกต้องกว่าในยุค เซี่ย ซาง และ โจวก่อนถึงยุคราชอาณาจักรฉิน

นับว่าคำถามของคุณกั้วเค่อ เป็นคำถามที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับผู้อ่านที่ไม่รู้ที่มาที่ไปและช่วยให้ผู้เขียน คือ ไหง่ มีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ไม่ให้เขียนประวัติศาสตร์(ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากตำราของผู้รู้)อย่างผิด ๆ

ยับสินฝ่าต้องขอกราบขอบพระคุณ อาโก กั้วเค่อ เป็นอย่างยิ่ง ไว้ ณที่นี้ ครับ.

(หมายเหตุ-คำท้วงติง และคำถาม เป็นการสร้างกำลังใจในการเขียนเรื่องราวขนาดยาวรับใช้ในชุมชนของเราตลอดไปครับ-จึงขอให้ท่านผู้อ่านร่วมสนุกด้วยการถามคำถาม และช่วยกันจับผิด เพื่อที่ข้อมูลในแหล่งชุมชนฮากกาของเราจะได้ไม่ผิดเพี้ยนครับ เพราะปัจจุบันนี้เท่าที่ไหงทราบ มีองค์กรต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ-ธุรกิจเอกชนเข้ามาใช้ข้อมูลในชุมชนของเรา เยอะแยะมากมายครับ ดังนั้นพวกเราจึงต้องร่วมด้วยช่วยกันตรวจสอบ เพื่อความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในข้อมูลของชุมชนของเราครับ.)

รูปภาพของ จองกว๊านหมิ่น

คำแปลอักษรกระดูกสัตว์

 
คำแปลอักษรกระดูกสัตว์
 
เนื้อหาคำแปลของอักษรกระดูกสัตว์ ในสมัยราชวงศ์ซาง
 
甲骨文譯意 :
 
良師益友      ครูบาอาจารย์ดีเพื่อนที่มีประโยชน์    
 
游山觀水      ท่องเที่ยวขุนเขาทัศนาลำน้ำ
 
美酒香花      สุราดีหอมกลิ่นบุปผา
 
霽月光風      ท้องฟ้าโปร่งมีแสงจันทร์ทิวทัศน์งาม
 
 
 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal