หน้าแรก  
HakkaPeople(Thai) ชุมชนชาวฮากกา 泰國客家 Hakka people .  
ที่ใดมีตะวันขึ้น ที่นั้นมีชาวจีน ที่ใดมีชาวจีน ที่นั้นมีเค่อเจียเหริน(客家人) hakkapeople.com

รู้เรื่องเมืองมังกร 20 ประวัติศาสตร์จีน ตอนที่ 4 "สงครามระหว่างรัฐ กับการพิชิตของรัฐฉิน"

รูปภาพของ YupSinFa

战国 จ้านกว๋อ - สงครามระหว่างรัฐ 

ในตอนที่แล้วไหงเกริ่นว่า รัฐจิ้น ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 3 รัฐด้วยกัน คือ รัฐหาน รัฐจ้าว และ รัฐเว่ย ซึ่งการแบ่งแยก สามรัฐนี้ออกมาจากรัฐจิ้น นั้น เนื่องจาก กลุ่มขุนนาง 3 ตระกูลใหญ่ 3 ตระกูล 3 แซ่ คือ แซ่หาน แซ่จ้าว และ แซ่เว่ย ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางแซ่ ที่มีอิทธิพล ใหญ่ และต่างคนต่างใหญ่พอ ๆ กัน ดังนั้น เมื่อเสือสองตัวอยู่ร่วมกันไม่ได้ แล้วเสือ สาม ตัวจะไปอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ก็จึงต้องแยกกันออกมาเป็นรัฐตระกูลแซ่ของตน

สถานการณ์ทางการเมืองก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างรัฐ

นับจากโบราณกาลก่อนที่จะมาถึงราชวงศ์โจว แต่เดิมนั้น ความเป็นอ๋อง หรือกษัตริย์ ของราชวงศ์โจวเป็นประมุขสูงสุดเพียงราชวงศ์เดียวในฐานที่มั่นของตน แต่จะมีแดนดินถิ่นแคว้นของเจ้าที่ดินศักดินาใหญ่-น้อยรายล้อมรอบอาณาจักรของราชวงศ์โจวที่ท่านทวีป วรดิลก บอกว่าเป็นดาวล้อมเดือน โดยที่กษัตริย์ราชวงศ์โจวทรงแต่งตั้งขุนนางหรือเจ้าราชวงศ์ที่ยอมรับและสวามิภักดิ์ต่อความเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์โจว ให้เป็นเจ้าผู้ครองนคร หรือแคว้น เรียกตำแหน่งนี้ว่า กงกว๋อ 公 国 หรือโหวกว๋อ อันมีฐานะเทียบเท่าเจ้าผู้ครองนครรัฐ บางนครรัฐก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ จึงเปรียบเสมือนเป็นประเทศประเทศหนึ่ง และไม่ว่ารัฐจะกว้างใหญ่ หรือเล็กเพียงใด สิทธิขาดและอำนาจในการปกครอง ตนเองของรัฐ เป็นอำนาจของกงกว๋อ โหวกว๋อ หรือเจ้าผู้ครองนครรัฐเหล่านี้ เหมือนกับประเทศที่เป็นอิสระปกครองตนเอง ภายนอก ก็แสดงออกถึงความเคารพ หรือการยอมรับว่า "โจว" เป็นราชวงศ์กษัตริย์ ที่เป็นประมุขสูงสุด 

ในระยะต้นของราชวงศ์โจว ตามที่ได้รับใช้ไปในตอนที่แล้ว ว่า โจวยุคแรก มีนครรัฐอยู่ทั้งสิ้น 1,763 รัฐ ต่อมา เมื่อเวลาผ่าน ไป ผ่านไป ได้สักร้อยปี บางรัฐ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น บางรัฐ ก็มีขนาดเล็กลง หรือสูญสลายหายไปเลย ซึ่งส่วนมากถูกผนวกหรือยุบรวมกับรัฐใกล้เคียงที่ใหญ่กว่า เหมือนกับปลาใหญ่กินปลาเล็ก และเมื่อถึงศัตวรรษที่เจ็ดก่อนการเกิดคริสตศักราชพระเยซู ยุคนี้ก็เหลือรัฐ อยู่ประมาณ สองร้อย นครรัฐ

จากดินแดนแผ่นดินที่เป็นศูนย์กลางของราชวงศ์โจว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน รัฐใหญ่ที่เป็นมหาอำนาจเข้มแข็งได้พยายามที่จะเข้าครอบครองดินแดนแว่นแคว้นของรัฐต่าง ๆ ในบรรดารัฐมหาอำนาจทั้งหมดจากสองร้อยรัฐ นี้ มี 4 รัฐที่เป็นรัฐมหาอำนาจ คือ รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐฉิน และรัฐจิ้น   

  รัฐต่าง ๆ ในสมัยจ้านกว๋อ ซึ่งแต่ละรัฐได้ก่อสงครามเพื่อยึดพื้นที่กันระหว่างรัฐ

อาณาบริเวณของรัฐ ฉู่               อาณาบริเวณของรัฐฉี ซึ่งเป็นพื้นที่ของมณฑลซานตงในปัจจุบัน

ภาพนี้แสดงเขตปกครองของรัฐใหญ่ 7 รัฐ ก่อนที่จะเป็นยุคสงครามระหว่างรัฐ หรือจ้านกว๋อ

สีชมพูในภาพคืออาณาบริเวณของรัฐฉินก่อนที่จะยึดอำนาจรัฐสุดท้ายลงได้แล้วสถาปนาราชอาณาจักรจงกว๋ออันยิ่งใหญ่ ภายใต้ราชวงศ์ฉินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน ปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์จีน และรัฐบาลจีน ได้ยกย่องให้จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นมหาบุรุษจอมราชันย์ที่สร้างให้จีนเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ถึงทุกวันนี้

บรรดาสี่รัฐนี้ รัฐฉี เป็นรัฐที่มีความเจริญมั่งคั่งทางการค้าขายและทางการทหารที่เข้มแข็งขึ้นก่อนรัฐใด ๆ รัฐฉีนั้น ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นมฑลซานตง ในปัจจุบัน (โปรดดูแผนที่จีนประกอบ) และโดยที่รัฐฉีนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์อุดม อยู่ติดทะเลจีนตะวันออก มีปลาทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรที่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมชั้นดีในสมัยนั้น จึงมีความสามารถในการสร้างแสนยานุภาพทางทหารก่อนรัฐอื่น ๆ และได้แผ่ขยายอาณาเขตของตนออกไปอย่างกว้างขวางกินรัฐเล็ก ๆ ได้มากมายหลายรัฐ ฉี จึงเป็นรัฐมหาอำนาจรัฐแรกที่มีพื้นที่กว้างขวางก่อนรัฐอื่น ๆ อีก 3 รัฐ

 

รัฐจิ้น ซึ่งมีอาณาบริเวณปกครองอยู่ทางลุ่มแม่น้ำเฟิน ในมณฑลซานซีปัจจุบัน  และภายหลังเกิดแตกแยกออกไปอีก 3 รัฐ ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ โดยรัฐฉู่อยู่ทางใต้ มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โตกว่าทุกรัฐ นับได้ถึงครึ่งหนึ่งของอาณาจักรราชวงศ์โจวเลยละ และอ๋องของรัฐฉู่นี้เองที่ไม่ยอมรับอำนาจของราชวงศ์โจว แม้แต่ในนาม หรือตามความจริง จนถึงกับตั้งตนเป็นกษัตริย์แข่งกับราชวงศ์โจว อันเป็นเหตุให้รัฐอื่น ๆ เอาตามอย่างบ้าง 

รัฐฉินซึ่งอยู่ทางตะวันตกของอาณาจักรโจว ก็เป็นอีกรัฐหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง เพราะเจ้าผู้ปกครองนครรัฐฉิน มีความสามารถในการสร้างเสริมกำลังทหารอย่างแข็งขัน

ในขณะที่รัฐจิ้นได้ต่อสู้ทำสงครามช่วงชิงความเป็นใหญ่กับรัฐฉู่โดยที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนถึงปีที่ 597 ก่อนคริสตศักราชพระเยซู รัฐฉู่ได้เป็นผู้ชนะสามารถเอารัฐจิ้นให้หายไปจากแผนที่รวมกับรัฐฉู่ได้ ส่งผลให้จวงอ๋องผู้ปกครองรัฐฉู่ได้เป็นมหาอำนาจใหญ่ยิ่งเหนือกว่ารัฐทั้งหลายในตอนนั้น

รัฐฉู่นี้เป็นใหญ่ที่สุดในบรรดารัฐทั้งหมดในสมัยราชวงศ์โจว โดยรัฐฉู่ตั้งอยู่ช่วงกลางของแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง) ที่เรียกว่าเจียงหนานในปัจจุบัน (ประกอบด้วย มณฑลเจียงซู เจ้อเจียง อานฮุย และนครเซี่ยงไฮ้) โดยที่รัฐฉู่ได้ทำสงครามกับรัฐจิ้นและสามารถพิชิตรัฐจิ้นได้มาเป็นของตน แต่ก็ทำให้รัฐฉู่อ่อนล้าอ่อนแอลงไปพอสมควรครับท่านผู้อ่าน เท่านี้ยังไม่พอครับ เนื่องจากผู้ครองนครรัฐฉู่คิดว่าตนเป็นผู้ปกครองรัฐมหาอำนาจ จึงได้เข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับความขัดแย้งระหว่างรัฐอู๋ กับ รัฐเย่ ทางใต้ (ช่างเหมือนกับบางประเทศในสมัยปัจจุบันของเราจริงๆ) รัฐฉู่ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐอู๋ แต่ภายหลังรัฐอู๋กลับสร้างสุมกำลังทางทหารจนมีแสนยานุภาพ และกลับเข้าตีรัฐฉู่และสามารถพิชิตรัฐฉู่ได้ ในปีที่ 506 ก่อนการเกิดคริสตศักราชพระเยซู แต่ว่าเป็นใหญ่ได้ไม่นาน รัฐอู๋ก็ต้องสู้รบกับการรุกรานของรัฐเย่จนปราชัยให้แก่รัฐเย่อย่างย่อยยับ เมื่อปีที่ 473 ก่อนคริสตศักราช หลังจากที่รัฐเย่พิชิตรัฐอู๋ได้อย่างราบคาบ ลบรัฐอู๋ออกไปจากแผนที่ได้แล้ว โกวเจี้ยน ซึ่งเป็นอ๋องของรัฐเย่ก็พยายามเปิดโต๊ะเจรจากับบรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้งหลายทางภาคเหนือ เพื่อที่ตนเองจะได้ชื่อว่าเป็นประมุขของรัฐต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรแทนที่รัฐอู๋ ที่เคยสถาปนาตัวเองแทนที่กษัตริยรัฐฉู่ที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาทาบราชวงศ์โจวเช่นกัน

โจวผิงหวาง อ๋องคนที่ 13 ของราชวงศ์โจว ผู้ย้ายเมืองหลวงจากเฮ่าจิง มาตั้งยัง ลั่วหยาง ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลเหอหนาน ปัจจุบัน และจากจุดนี้ได้เป็นการเริ่มต้นของยุคราชวงศ์โจวตะวันออก

เจ้ารัฐเย่เจรจาเกลี้ยกล่อมเจ้ารัฐต่าง ๆ ให้ยอมรับตัวเองเป็นประมุขแต่ไม่สำเร็จ แล้วก็นับตั้งแต่ช่วงนี้ไปครับ ไท้ก๋าหยิ่นทั้งหลาย ความเป็นประมุขของรัฐพันธมิตรและกษัตริย์ราชวงศ์โจวก็ไม่มีความสำคัญไม่มีความหมายอีกต่อไป

จากจุดนี้เองครับ ที่เป็นการสิ้นสุดของยุค ชุน-ชิว และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสงครามระหว่างรัฐ หรือจ้านกว๋อ

รัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่จาก 200 กว่ารัฐ เวลานี้จึงเหลือเพียง 7 รัฐ คือ ฉู่ ฉิน ฉี เอี้ยน หาน จ้าว เว่ย และบางรัฐ ใน 7 รัฐนี้ก็แพ้สงครามถูกรวมเข้ากับรัฐที่ชนะสงคราม ในบรรดารัฐทั้ง เจ็ด นี้ รัฐฉิน มีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร รวมถึงยังได้เปรียบรัฐอื่น ๆ ในด้านภูมิประเทศคืออยู่ในชัยภูมิที่ดี และจากจุดนี้ ไม่เหลือรัฐใด ๆ อีกเลยที่ยอมรับความเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์โจวอีกต่อไป เนื้อที่ของรัฐโจว หดแคบลง แคบลง รัฐฉู่ซึ่งอยู่ทางใต้กับรัฐทางเหนื่อทั้งหลาย รวมถึงรัฐต่าง ๆ อีก 6 รัฐ ได้ต่อสู้ช่วงชิงอาณาเขตและความเป็นใหญ่ ผลที่สุดชัยชนะก็ตกเป็นของรัฐฉินเนื่องจากด้านชัยภูมิที่ดีที่ได้เปรียบกว่ารัฐอื่นในด้านที่ตั้งและแสนยานุภาพทางการทหาร

พื้นที่ของรัฐฉินอยู่ในมณฑลส่านซีปัจจุบัน (บริเวณที่มีการขุดพบสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้และหุ่นทหารม้านั่นแหละครับ) เมื่อถึงปีที่ 316 ก่อนคริสตศักราช รัฐฉิน ก็ได้ผนวกเอาแคว้นปา กับแคว้นสู่ (อยู่ในมณฑลเสฉวนปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐฉินมีความเจริญทางทรัพยากรและมีปราการหน้าด่านที่ยอดเยี่ยมเนื่องจากแคว้นปา กับสู่ มีธรรมชาติที่สุดแสนทุรกันดารทั้งขุนเขาและแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากจนไม่มีกองทหารของรัฐใดที่จะล่วงล้ำเข้าไปได้ รัฐฉินยังเป็นรัฐแรกที่สามารถพัฒนาการชลประทานอย่างได้ผล การได้มาของแคว้นปากับแคว้นทำให้ได้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล  รัฐฉินครอบครองดินแดนที่ใช้ในการเพาะปลูก ได้ถึง 1 ใน 3 ของอาณาจักรราชวงศ์โจว รวมถึงจำนวนประชากร ก็มากที่สุดถึง 1 ใน 3 ของสมัยนั้นด้วย

     ซางหยาง (ซางเป็นชื่อบรรดาศักด์ หยางเป็นชื่อตัว ซางหยางมีแซ่ว่า กงซุน ชื่อแซ่ ว่า"กงซุนหยาง" บุคคลผู้นี้เป็นผู้ปฏิรูปการเมืองการปกครองที่สำคัญที่สุดของรัฐฉิน อันจะส่งผลให้รัฐฉินได้กลายมาเป็นรัฐอภิพญามหาอำนาจในตอนหลัง การปฏิรูปของซางหยางนี้ นักประวัติศาสตร์จีนถือว่า "เป็นเหตุการที่มีความสำคัญที่สุดในยุคสงครามระหว่างรัฐเลยทีเดียว"

ซางหยาง บุคคลแห่งยุคจ้านกว๋อ ผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ชาติจีน ซึ่งท่านได้วางรากฐานการเมืองการปกครอง และกฎหมายให้กับรัฐฉิน ส่งผลให้รัฐฉินเป็นรัฐที่เข้มแข็งเป็นมหาอำนาจ และกลายเป็นรัฐผู้พิชิตทุกรัฐในเวลาต่อมา ทำให้จีนมีความเป็นปึกแผ่นแดนเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติจีน-ชีวิตของซางหยางจบไม่สวยงามเท่าใด เนื่องจากท่านเป็นคนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และซื่อสัตย์ภักดี สร้างระบบกฎหมายให้มีความศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้พวกเจ้า และเสนาอำมาตย์พากันเกรงกลัว ครั้นถึงกาลเปลี่ยนรัชกาลในรัฐฉิน ซางหยางจึงถูกเสนาอำมาตย์และเจ้าที่เกลียดชัง จับสำเร็จโทษเสีย อย่างไรก็ตาม ระบบการปกครองและกฎหมายที่ซางหยางสร้างขึ้นมายังเป็นบรรทัดฐานและส่งผลให้รัฐฉินเป็นรัฐที่เข้มแข็งเกรียงไกร ในที่สุด

ยุคสงครามระหว่างรัฐเป็นยุคที่สมัยนั้นมีสงครามอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นความเชื่อถือที่ยึดมั่นกันต่อ ๆ มาว่า ชาวจีนทั้งมวลจะต้องรวมเข้าด้วยกัน บรรดาเจ้าผู้ครองรัฐทั้งหมดต่างก็มีความมุ่งหวังว่า ตนเองจะเป็นผู้ที่รวบรวมอาณาจักรทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐต่าง ๆ จึงไม่สามารถหนีพ้นไปจากการถูกโจมตีได้ มีผลที่จะเกิดขึ้นเพียงสองอย่างเท่านั้น คือ ไม่ชนะ ก็ต้อง ยอมแพ้ เอารัฐที่แพ้มารวมกับรัฐที่ชนะ หรือยินยอมพร้อมใจเข้าไปรวมกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า ถ้าไม่ถูกเขาฆ่า ก็ต้องฆ่าเขาก่อน ความยุ่งยากปั่นป่วนวุ่นวายเป็นกลียุคที่สุดในยุคต้นของประวัติศาสตร์จีน ไม่มีความสงบเหมือนกับในช่วงของราชวงศ์ซาง ความวุ่นวายสับสนอลหม่านจากการรบราฆ่าฟันนี้ ไม่สามารถที่จะหยุดลงได้ ต้องรอรัฐใดรัฐหนึ่งที่มีชัยชนะสูงสุด รวมเอารัฐต่าง ๆ เข้ามาเป็นเขตแดนแว่นแคว้นของตนเอง มีแม้กระทั่งการทำสนธิสัญญาสันติภาพ การตกลงร่วมเป็นพันธมิตรต่อกัน(ขณะที่ข้างหลังก็ถือมีดพกกันคนละด้าม) การแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างรัฐกัน การตั้งโต๊ะเจรจา(เหมือนกับสหประชาชาติในสมัยนี้เลยเนาะ) รวมถึงความพยายามในการสร้างสันติภาพ ไม่ให้เกิดการสู้รบกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติหรือต่างคนต่างอยู่ ทุกสิ่งถุกอย่างที่ไหงเขียนมาทั้งหมดนี้ ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในยุคสงครามระหว่างรัฐในประวัติศาสตร์จีนลงไปได้

ฉิน-รัฐผู้พิชิต

ภายในราชสำนักโจว ได้เกิดความยุ่งยากขึ้น เนื่องจาก อำนาจราชเดชได้เสื่อมสิ้นลงไปจวนจะสิ้นสุดอยู่แล้ว เพราะเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้งหลายได้ตั้งตัวเองเป็นหวาง (หรืออ๋องในภาษาฮกเกี้ยนใต้และแต้จิ๋ว) หรือเป็นกษัตริย์เท่าเทียมกับกษัตริย์ราชวงศ์โจว "เทียนจื่อ" หรือโอรสแห่งสวรรค์ที่กษัตริย์โจวเป็นเพียงองค์เดียว บัดนี้ ได้มีโอรสสวรรค์อยู่เต็มไปหมดในอาณาจักร แล้วเหตุการณ์หนึ่งก็ได้อุบัติขึ้น คือว่า ในปีที่ 257 ก่อนคริสตศักราช ราชสำนักโจวเกิดการแตกแยก ระหว่างเขตตะวันออก กับ เขตตะวันตก ของพระราชวัง รัฐหาน กับ รัฐจ้าว ได้ส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซง นำเอาฝ่ายตะวันออกไปตั้งมั่นอยู่ที่กงเสี้ยน ฝ่ายตะวันตกไปไว้ที่ลั่วหยาง (ในมณฑลเหอหนานปัจจุบัน) และทั้งสองราชสำนักนี้ไม่ยอมขึ้นแก่กันอีกต่อไป จังหวะนี้ รัฐฉินจึงได้ฉวยโอกาสสำแดงพลานุภาพแสนยานุภาพทางอำนาจและทางทหารให้รัฐทั้งหลายดูว่า เก่งกล้าสามารถเพียงใด เจ้ารัฐฉินได้ส่งกองทัพมาตัดสินปัญหานี้ ในปีที่ 256 ก่อนคริสตศักราช เมื่อถึงลั่วหยาง เจ้ารัฐฉินได้ยุบพระราชอำนาจและปลดกษัตริย์ราชวงศ์โจวมันเสียเลย เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์โจวในยุคชุน-ชิว และจ้านกว๋อเพียงถึงเวลานี้...

เมื่อถึงปีที่ 246 ก่อนคริสตศักราช เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในรัฐฉิน คือว่า จวงเซียงหวาง กษัตริย์รัฐฉินสิ้นพระชนม์ อิ๋งเจิ้ง พระราชโอรสซึ่งมีอายุได้ 13 ชันษา ขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนามว่า เจิ้งหวาง หวางเจิ้งองค์นี้เอง ที่ต่อไปจะเป็นอภิพญามหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัตศาสตร์ชาติจีนที่สร้างราชอาณาจักรต้าฉิน หรือ จงกว๋อ อันยิ่งใหญ่ เพียงอาณาจักรเดียว ภายใต้ราชวงศ์ฉิน ทรงพระนามว่า "ฉินสื่อหวางตี้" - จิ๋นซีฮ่องเต้ ( 秦始皇帝 )

ลวี๋ปู้เหว่ย พ่อค้ามหาเศรษฐี ที่ผันตัวเองมาเป็นอัครมหาเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยุวกษัตริย์รัฐฉิน ผู้มีพระนามว่า ฉินอิ๋งเจิ้ง เขากล่าวว่า เป็นพ่อค้าต้องกล้าลงทุนที่จะค้าขายให้ได้กำไร และการที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ก็จะต้องลงทุนด้วยมนุษย์ สายตาของพ่อค้าหลี่ปู้เหว่ย ผู้นี้จะเป็นเช่นไร ขอให้ไท้ก๋าหยิ่น ท่านผู้อ่านโปรดคอยติดตามในตอนหน้า ซึ่งเป็นตอนที่จิ๋นซีฮ่องเต้ จะสถาปนาราชอาณาจักรจงกว๋ออันยิ่งใหญ่

ลวี๋ปู้เหว่ย พ่อค้าผู้มองการณ์ไกลจนสามารถสร้างเจ้าชายโนเนมให้เป็นจอมจักรพรรดิ์แห่งแผ่นดิน จิ๋นซีฮ่องเต้

ในขณะที่เจิ้งหวางยังทรงพระเยาว์อยู่ "หลี่ปู้เหว่ย" อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์รัฐฉินพระองค์นี้ โดยที่หลี่ปู้เหว่ย ยังคงยึดนโยบายของกษัตริยรัฐฉินองค์ก่อน ๆ คือจะต้องรวบรวมรัฐต่าง ๆ เข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวให้จงได้

ปีที่ 230 ก่อนคริสตศักราช รัฐฉินสามารถพิชิตรัฐหาน ได้ และผนวกรัฐหานเข้ารวมกับรัฐฉินได้เป็นผลสำเร็จ

ปีที่ 228 ก่อนคริสตศักราช รัฐฉินบุกถล่มรัฐจ้าว แต่ว่า หลี่มู่ แม่ทัพรัฐจ้าวห้าวหาญ ต่อต้านกองกำลังรัฐฉินได้อย่างเข้มแข็งแกร่งกล้า หลี่ปู้เหว่ย จึงได้ใช้ทองคำติดสินบนให้กับ กัวคาย ขุนนางที่สนิทกับอ๋องรัฐจ้าว จนสำเร็จ จับอ๋องรัฐเจ้าไว้ได้ กองทัพรัฐฉินจึงพิชิตรัฐจ้าวได้เป็นผลสำเร็จ

ปีที่ 225 ก่อนคริสตศักราช รัฐฉินพิชิตรัฐเว่ย ได้ อีก 1 รัฐ 

ปีที่ 223 ก่อนคริสตศักราช กองทัพรัฐฉิน พิชิตรัฐฉู่ ได้ อีกแล้วครับท่าน

ปีที่ 222 ก่อนคริสตศักราช กองทัพรัฐฉิน พิชิตรัฐเอี้ยน เรียกว่าพิชิตได้ปีต่อปีเลยทีเดียว

ปีที่ 221 ก่อนคริสตศักราช กองทัพรัฐฉิน ก็พิชิตรัฐฉี ได้ด้วยการใช้ทองคำซื้อตัวขุนนางคนสนิทของเจ้าผู้ครองรัฐฉี และก็สามารถพิชิตได้โดยง่าย แทบไม่ต้องใช้กองกำลังทหารเลย

จากเจ้าผู้ครองรัฐฉิน 7 ชั่วอายุคน ได้มีนโยบายเป็นหลักเลยว่า ผู้ครองรัฐฉินทุกองค์ จะต้องสร้างรัฐฉินให้เข้มเข็ง เพื่อรวมดินแดนที่แตกแยกออกเป็นคนละรัฐ ให้รวมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้สำเร็จ ดังนี้ ตลอดระยะเวลา 123 ปี ในระหว่าง ปีที่ 305 ถึงปีที่ 182 ก่อนคริสตศักราช เจ้าผู้ครองรัฐฉิน 7 องค์ ได้ดำเนินตามนโยบายของบรรพชน ในการสร้างแสนยานุภาพทางทหารและเศรษฐกิจ เพื่อให้รัฐทั้ง 7 ที่เหลือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ได้  เจ้า 7 ตน ของรัฐฉิน ได้แก่ เสี่ยวกงหวาง ฮุ่ยหวาง อู่หวาง เจาหวาง เสี้ยวเหวินหวาง จวงเซียงหวาง และ อิ๋งเจิ้งหวาง ซึ่งจะได้เป็นปฐมจักรพรรดิ์แห่งราชอาณาจักรต้าฉิน หรือจงกว๋ออันยิ่งใหญ่ เพียงเหลือรัฐให้ยึดตีอีกเพียง 1 รัฐเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น คือในระหว่าง ปีที่ 230 ก่อนคริสตศักราช ถึง ปีที่ 221 ก่อนคริสตศักราช 

ฉินเสี่ยวกงหวาง ฉินฮุ่ยหวาง ฉินอู่หวาง

อิ๋งเจิ้ง หรือ เจิ้งหวาง ซึ่งต่อมาจะได้เป็นปฐมจักรพรรดิ์ แห่งราชอาณาจักรต้าฉิน

บทเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ของท่านซือหม่าเชียน บิดาแห่งประวัติศาสตร์จีน ได้กล่าวถึงการพิชิตรัฐต่าง ๆ ของรัฐฉิน ว่า "เหมือนตัวหม่อนที่กินใบหม่อนทีละใบ ทีละใบ จนหมด" อาจารย์ทวีป วรดิลก ปรมาจารย์ประวัตศาสตร์จีน ของไทยผู้ล่วงลับกล่าวว่า "เป็นถ้อยคำที่ผู้เรียบเรียงประวัติศาสตร์จีนแทบทุกคนอดที่จะยกขึ้นอ้างอิงไม่ได้นับแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน"

                              

โปรดติดตามตอนต่อไป "ยุคอาณาจักร และการเกิดของจิ๋นซีฮ่องเต้" รับรองตื่นเต้นเร้าใจ ครับ.

 

Yubsinfa (Klit.Y)


 
hakka@hakkapeople.com    คุณความดี แด่บรรพชนและชาวฮากกาที่ฮึกเหิม Hakkapeople.com by Hakka Pakchong Association... Powered by Drupal